จระเข้ คอร์ปฯ – กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงนาม MOU จัดอบรมให้ตัวแทนครูฝึกกรมฯ

บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมด้วย บริษัท เค เซอรา จำกัด ลงนามความร่วมมือกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดหลักสูตรอบรมเทคนิค การปูกระเบื้องครบวงจรจากภาคเอกชน ให้กับตัวแทนครูฝึกของกรมฯ ทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ทั้งนี้พัฒนาทักษะแรงงาน ที่มีความเชี่ยวชาญออกสู่ตลาด และเพิ่มโอกาสให้กับเยาวชน ในสายอาชีพช่างก่อสร้าง ยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มีมาตรฐาน พร้อมก้าวสู่เวทีแข่งขันระดับสากล
นายศุภพงษ์ เพชรสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าตรา “จระเข้” กว่า 30 ปี เปิดเผยว่า “จระเข้ และ บริษัท เค เซอรา จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือ ในบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงาน กลุ่มช่างก่อสร้าง กับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อร่วมกันเสริมศักยภาพช่างฝีมือแรงงานไทย ผ่านการพัฒนาหลักสูตร การปูกระเบื้อง สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับช่างไทยเกี่ยวกับเทคนิค การใช้ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างให้อยู่ในระดับมาตรฐาน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาด เพิ่มโอกาสให้กับเยาวชน ในสายอาชีพช่างก่อสร้าง เป็นการยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มีมาตรฐาน ทัดเทียมในระดับสากล”
“ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว จระเข้ และ เค เซอรา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการปูกระเบื้องครบวงจร จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการอบรมฝีมือแรงงาน และดำเนินการอบรมเชิงวิชาการและเวิร์กชอป ให้กับตัวแทนครูฝึก (Master Trainer) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ นับเป็นครั้งแรกของหลักสูตร จากภาคเอกชนที่รับรอง โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงานโดยผสมผสานระบบการเรียนรู้ในรูปแบบ Online และ On Site ยิ่งไปกว่านั้นยังขยายความร่วมมือ ในการสนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานในระดับต่างๆ และจะร่วมกันจัดทำการทดสอบฝีมือช่างปูกระเบื้องทั้ง ตัด เจาะ ปู ปรับระดับ ที่ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน ม. 26 ซึ่งเป็นการจัดทดสอบโดยเอกชนเป็นรายแรกในเร็วๆนี้”
“ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ จระเข้ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นขององค์กร ในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้าง เข้ามาช่วยสนับสนุนให้แรงงานไทย ได้มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และที่ผ่านมาจระเข้ได้สนับสนุนกิจกรรม พัฒนาฝีมือแรงงานก่อสร้างกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ในรูปแบบการส่งเสริมความรู้จัดอบรม ในหลักสูตรต่างๆ ในนาม จระเข้ อะคาเดมี่ ซึ่งความร่วมมือนี้ นับเป็นการดำเนินรอย ตามแนวทางให้ความรู้-พัฒนาฝีมือ-มีงานให้ทำ โดยนำความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของจระเข้มาสนับสนุน ในทุกระดับเพื่อเป้าหมายในการยกระดับฝีมือ และยกระดับรายได้ให้กับช่างฝีมือไทย ให้เป็นอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ”
ด้าน นางสาวปณัดดา อรรถสารประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค เซอรา จำกัด กล่าวว่า “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นการร่วมพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เชื่อมั่นว่าเมื่อแรงงานไทยมีศักยภาพที่สูงขึ้น จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจโลกไปพร้อมกัน โดยที่ผ่านมา เค เซอรา ในฐานะผู้ผลิต จำหน่าย และพัฒนา นวัตกรรม ระบบการปูกระเบื้อง ระดับมืออาชีพ ภายใต้แบรนด์ “จระเข้” ได้ให้การสนับสนุนเยาวชน ที่มีความสามารถโดดเด่นได้แสดงศักยภาพในเส้นทางของการแข่งขัน ฝีมือแรงงานในเวทีสำคัญของประเทศ และการแข่งขันระดับโลกโดยมีส่วนร่วมในการคัดเลือกวัสดุ และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อให้เยาวชน ได้ใช้ฝึกซ้อมตั้งแต่ช่วงเก็บตัวเตรียมแข่งขัน ทั้งในระดับภาคไปจนถึงเป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งขันในระดับนานาชาติ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เค เซอรา ยังสนับสนุนเงินรางวัล และมอบอุปกรณ์ในการปูกระเบื้อง RUBI เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเยาวชน และแรงงานกลุ่มช่างก่อสร้าง ที่มีฝีมือได้มีแรงบันดาลใจและเกิดความภูมิใจในอาชีพ พร้อมนำความรู้และประสบการณ์ ที่ได้รับการยืนยันในระดับมาตรฐานไปต่อยอด ในการทำงาน สร้างรายได้และโอกาสในอาชีพมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ นายเฉลิมพงษ์ บุญรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือ และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายและกลไก ในการบูรณาการภารกิจร่วมกัน ผ่านศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยการพัฒนาตัวแทนครูฝึก (Master Trainer) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน การจัดฝึกอบรมหลักสูตรเทคนิค การปูกระเบื้องครบวงจร ซึ่งมีระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง,สุราษฎร์ธานี,สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี จำนวน 20 คนต่อรุ่น รวมทั้งสิ้น 80 คน เป็นการเติมองค์ความรู้ใหม่ ให้กับแรงงานช่างก่อสร้างได้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือในการปฏิบัติงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต”