BUSINESS

รัฐบาลเปิด 6 แนวทาง เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการไทย รองรับรถไฟลาว-จีน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยการเตรียมความพร้อมของไทย ต่อการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน เส้นทางเวียงจันทร์-บ่อเต็น หรือ “ขบวนล้านช้าง” ที่จะเปิดให้บริการเดือนธันวาคมนี้ ว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) รายงานว่า ได้กำหนดแนวทางดำเนินการในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งและการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างจีน-ลาว-ไทย และต่อยอดโครงการด้านอื่นๆ โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค

สำหรับกรอบพัฒนาระยะเร่งด่วน ที่ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564 ได้แก่

1.บริหารจัดการการใช้บริการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 ร่วมกับการบริหารจัดการทางรถไฟ โดยเพิ่มความถี่การเดินรถไฟและใช้หัวลาก 15 ตันต่อเพลา และจัดเวลาการเดินรถไฟใหม่ให้เหมาะสมและลดความแออัด

2.เตรียมความพร้อมกระบวนการและพิธีการศุลกากร ทั้งอัตรากำลังและอุปกรณ์ต่าง ๆ จัดซื้อระบบตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเอ็กซเรย์แบบเคลื่อนที่ (Mobile X-Ray System) ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ อนุมัติกรมรองรับพิธีการทางรถไฟทุกรูปแบบ

3.พัฒนาบริเวณพื้นที่หนองสองห้อง เป็นจุดพักคอยของรถบรรทุกสินค้าขาออกบนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่

4.พัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหนองคายให้เป็นพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าขาเข้าและปรับพื้นที่เพื่อตั้งเป็นโรงพักสินค้า สำหรับจัดเก็บ ตรวจ ปล่อย พิธีการศุลกากรในระยะเร่งด่วน

5.ผ่อนผันการใช้ช่องทางเข้าในราชอาณาจักร เฉพาะการขนส่งสินค้า ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 และช่องทางจุดผ่านแดนถาวรสถานีรถไฟหนองคาย

6.ขยายพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมือง

จากแนวทางเร่งด่วนเหล่านี้ คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น 354ตู้/วัน สามารถรองรับรถบรรทุกหมุนเวียนสินค้าเข้า-ออก ดำเนินพิธีการศุลกากร 650 คัน/วัน การตรวจลงตราได้ 3,600 คน/วัน

ส่วนการดำเนินการระยะยาว ประกอบด้วย เร่งเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ให้สมบูรณ์ ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่สำหรับการขนส่งระบบราง พัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้านาทา จ.หนองคาย และเตรียมพร้อมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

ภาพประกอบ: แฟ้มภาพซินหัว

Related Posts

Send this to a friend