BUSINESS

สศก.เผย ราคาหอมหัวใหญ่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

สศก.เผย ราคาหอมหัวใหญ่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น พร้อมลงพื้นที่เจาะแหล่งผลิตหลักใน 2 อำเภอของเชียงใหม่ ห่วง พื้นที่ปลูกลดลง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยสถานการณ์หอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2564/65 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ กุมภาพันธ์ 2565) คาดว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกหอมหัวใหญ่ รวมประมาณ 8,504 ไร่ ลดลงจากปีเพาะปลูก 2563/64 ที่มีพื้นที่ปลูก 8,798 ไร่ (ลดลงร้อยละ 3.34) ให้ผลผลิต 34,647 ตัน ลดลงจากปีเพาะปลูก 2563/64 ที่ให้ผลผลิต 34,797 ตัน (ลดลง ร้อยละ 0.43) เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ราคาดีกว่าแทน อาทิ หอมแขก ข้าวโพดหวาน เป็นต้น

สำหรับแหล่งปลูกสำคัญอันดับ 1 ของประเทศ คือ จ.เชียงใหม่ (ผลผลิตร้อยละ 74 ของประเทศ) รองลงมาคือเชียงราย และนครสวรรค์ โดยผลผลิตส่วนใหญ่ทยอยออกตลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายน ออกมากสุดในเดือนมีนาคม ขณะที่ภาพรวมราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงต้นปี เนื่องจากผลผลิตลดลง พ่อค้าในพื้นที่เข้ามารับซื้อผลผลิตมากขึ้น และการส่งออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นส่งออกได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ อำเภอแม่วาง และอำเภอฝาง ระหว่างวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ทั้งสองอำเภอมีพื้นที่ปลูกและผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงเพาะต้นกล้า ได้เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ต้นกล้าได้รับความเสียหายไปบางส่วน ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศหนาวเย็นไม่ยาวนาน ส่งผลต่อคุณภาพของหอมหัวใหญ่

สำหรับผลผลิตและราคาที่เกษตรกรขายได้ พบว่า อำเภอแม่วาง ณ สิ้นเดือนมีนาคม จะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งหมด เกษตรกรที่มีผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี จะมีพ่อค้าในท้องถิ่นมารับซื้อผลผลิตแบบเหมาสวน โดยให้ราคาไร่ละ 42,000 – 45,000 บาท โดยราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ (ณ 10 มีนาคม 2565) เบอร์ 0 , 1 เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 11 บาท อำเภอฝาง เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตไปบางส่วนประมาณร้อยละ 40 โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในต้นเดือนเมษายน ราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ (10 มีนาคม 2565) เบอร์ 0 , 1 อยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท

สำหรับผลผลิตหอมหัวใหญ่ของ อ.แม่วาง ถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญที่ส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยช่วงเดือนมกราคม 2565 ไทยส่งออกหอมหัวใหญ่ไปญี่ปุ่นแล้ว 121,913 กิโลกรัม มูลค่า 3.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกปริมาณ 92,069 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32) มูลค่า 2.42 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40)

Related Posts

Send this to a friend