BUSINESS

‘ไทยออยล์’ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ยังผันผวน แนะจับตาการประชุมโอเปกพลัสวันนี้

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ (4 – 8 ต.ค. 64) ว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน ต้องจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในวันนี้ ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิม ที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. 64 หรือไม่ ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติยังอยู่ในระดับสูง เป็นอีกปัจจัยหนุนให้เกิดการใช้น้ำมันในการทำความร้อนและอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง หนุนการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการ QE ในช่วงเดือน พ.ย. 64 ก็ทำให้ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

1.การประชุมกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร หรือโอเปกพลัส วันนี้ (4ต.ค.64) ที่มีแนวโน้มคงมติเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตที่ประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน สำหรับปริมาณการผลิตในเดือน พ.ย. 64 แม้ว่าหลายประเทศจะเรียกร้องให้โอเปกทำเพิ่มกำลังการผลิต

2.บริษัท Petrochina และ Hengli Petrochemical เป็นผู้ชนะการประมูลน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ หลังรัฐบาลจีนประกาศขายเพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบของโรงกลั่นภายในประเทศ โดยปริมาณที่ทั้งสองบริษัทประมูลได้นั้นตกราว 4.43 ล้านบาร์เรล หรือราว 60% ของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ที่ออกขายทั้งหมด นักวิเคราะห์จาก Wood Mackenize คาดว่าจีนน่าจะออกขายน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ราว 33-82.5 ล้านบาร์เรล จากปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมด 340 ล้านบาร์เรล

3.ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับลดลง ขณะที่ โรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพียงเล็กน้อยแตะระดับ 88.1%

4.สถานการณ์การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในจีนกำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องลดหรือหยุดดำเนินการผลิต

5.Goldman Sachs คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีโอกาสอยู่ที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลภายในสิ้นปี หลังตลาดน้ำมันดิบค่อนข้างตึงตัวจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาก๊าซธรรมชาติที่สูง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันมากขึ้น แต่การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ก็อาจส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันดิบ

6.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และมีแนวโน้มกดดันราคาน้ำมันดิบ หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะลดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ในเดือน พ.ย. และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

Photo by Zbynek Burival

Related Posts

Send this to a friend