BUSINESS

สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ขอกรมการขนส่งทางบก ยกเลิก Taxi OK

ชี้ ที่ผ่านมาสมาชิกแบกรับภาระค่าบริการรายปี และต้องผ่อนตัวอุปกรณ์ แต่อุปกรณ์กลับไม่สามารถใช้ได้จริง

วันนี้ (1 มี.ค. 65) กลุ่มสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และกลุ่มแท็กซี่ทวงคืนความยุติธรรม ยื่นหนังสือถึง อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ขอความอนุเคราะห์ให้กรมการขนส่งทางบกทำหนังสือยกเลิกศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้างแท็กซี่ ( Taxi OK )

นายวรพล แกมขุนทด ตัวแทนสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กล่าวว่า มีหนังสือจากกรมการขนส่งทางบกลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งถึงผู้ประกอบการแท็กซี่ เรื่อง ให้ดำเนินการยกเลิกศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) จึงจะมีการลงทะเบียนใช้ DLT ได้ ซึ่งการไปยกเลิกนั้น จะต้องจ่ายเงินค่ายกเลิก 6,000 ถึง12,000 บาท สำหรับผู้ที่มีการติดค้าง

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียคือ ค่าบริการในส่วนของอุปกรณ์ GPS ที่ใช้ร่วมกับแอปพลิเคชั่น Taxi OK ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่กรมการขนส่งทางบกออกระเบียบว่า แท็กซี่ทุกคันจะต้องติดตั้งผ่านบริษัทรับติดตั้ง 16 บริษัท ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษจิกายน 2560 โดยมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง 25,000-49,000 บาท เมื่อติดตั้งมาแล้ว จะต้องเสียค่าบริการให้กับบริษัทติดตั้งอีกปีละ 4,200 บาท

ก่อนหน้าที่จะติดตั้ง มีการระบุว่า เมื่อติดตั้งแล้วจะทำให้สามารถติดตามรถได้ รวมถึงเป็นอีกช่องทางมี่จะให้ผู้โดยสารเรียกใช้บริการผ่านแอพ รวมถึงความปลอดภัยทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่ซึ่งมีการติดตั้งกล้องภายในรถและปุ่มฉุกเฉิน แต่ผ่านมา 5 ปี สิ่งที่ติดมาไม่ทำให้เกิดประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง รวมถึงแอปพลิเคชั่นก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง

ด้านนายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกแบกรับภาระค่าบริการรายปี และต้องผ่อนตัวอุปกรณ์ แต่อุปกรณ์กลับไม่สามารถใช้ได้จริง เมื่อรื้อออกมาดู กลับพบว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้นไม่ได้คุณภาพ ซิมการ์ดไม่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ จึงอยากให้ขนส่งทางบกทำการยกเลิกศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้างแท็กซี่ ของทั้ง 16 บริษัท เพื่อให้สมาชิกสามารถเข้ามาใช้บริการผ่านแอพ DLT ของกรมการขนส่งทางบกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่า กรมการขนส่งทางบกจะต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายที่มีกับ 16 บริษัท เนื่องจากกรมการขนส่งเป็นผู้ออกระเบียบว่ารถทุกคันจะต้องติดตั้งเพื่อจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ แต่เมื่อจะเลิกใช้กลับให้ผู้ประกอบอาชีพเป็นผู้รับภาระ

Related Posts

Send this to a friend