‘ไพ สีพาน’ รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยันไม่นำ 4 ข้อพิพาทหารือใน JBC เดินหน้าสู่ศาลโลก

วันที่ 13 มิ.ย.68 The Reporters ติดตามการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC ครั้งที่ 11 จะมีขึ้นที่โรงแรมโซฟิเทล กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา คณะกรรมาธิการฝ่ายไทย ที่มีนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เป็นประธาน และกรรมการ อีก 16 คน จะเดินทางมาถึงช่วงเย็นวันนี้ ก่อนจะเริ่มประชุมในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งฝ่ายกัมพูชามีนายลาม เจีย รัฐมนตรีกิจการชายแดน เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยการประชุมจะมีขึ้นเพียง 1 วัน และถือเป็นการประชุมในรอบ 13 ปี ตั้งแต่ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2555 ที่กรุงเทพมหานคร
นายไพ สีพาน รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พลเอกฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรี กัมพูชา ยืนยันว่า จะนำ 4 ข้อพิพาท คือ พื้นที่ช่องบก หรือ สามเหลี่ยมมรกต ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และ ปราสาทตาควาย ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการเผชิญหน้าทางการทหาร ทางกัมพูชา จึงนำ 4 ข้อพิพาทนี้ให้ศาลโลกพิจารณาเพื่อความยุติธรรม เนื่องจาก 2 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อตกลงปักปันเขตแดนร่วมกันได้ ทางกัมพูชา จึงจะไม่นำ 4 ข้อพิพาทนี้เข้าหารือในที่ประชุม JBC ส่วนปัญหาเขตแดนอื่นๆ ยังพูดคุยกันตามข้อตกลง MOU 2543 ได้
“เราเชื่อว่าปัญหาข้อพิพาททั้ง 4 แห่ง ไม่สามารถหาข้อสรุปตามข้อตกลง MOU 2543 ที่จะปักปันเขตแดน เราจึงต้องให้บุคคลที่ 3 ช่วยหาทางออก เพื่อให้เกิดการยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาผ่าน MOU 2543 เป็นไปอย่างล่าช้า และกรณีล่าสุดมีการเผชิญหน้าที่อาจนำไปสู่สงครามได้ จึงต้องหาข้อยุติ เพราะเราทั้ง 2 ประเทศ เป็นมิตรประเทศที่ดีกันมายาวนาน”
นายไพ สีพาน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พล.อ.ฮุน มาเนต ต้องการให้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับไทย ตกลงกันได้ด้วยสันติภาพไม่ใช่การทำสงคราม จึงหวังว่าไทยจะให้ความร่วมมือหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ แม้ไทยจะไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลก แต่กัมพูชา ก็ยังเดินหน้ายื่นฟ้องศาลโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ตั้งคณะกรรมการต่อสู้คดีในศาลโลกแล้ว และไม่อยากให้มองว่ากัมพูชาต้องการชัยชนะ แต่อยากหาแนวทางที่จะให้ทั้งสองประเทศอยู่ร่วมกันอย่างมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน
“เราไม่อยากให้เกิดสงคราม เชื่อว่า ทั้ง 2 ประเทศ มีความศิวิไลซ์ จะยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศ และไทยกับกัมพูชา เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ต้องยอมรับ ICJ เพื่อสร้างความปรองดอง ก็อยากให้คุยกันดีกว่าเผชิญหน้ากัน”
รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ระบบการปกครองของไทยและกัมพูชา ต่างกัน กัมพูชามีเอกภาพระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ส่วนของไทยรัฐบาลและกองทัพไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกัน จึงมองว่าเป็นปัญหาที่ทำให้นโยบายทั้งสองประเทศยังแตกต่างกัน และทำให้มีสถานการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดน
“นโยบายของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา พล.อ.ฮุน มาเนต ชัดเจนว่า ต้องนำ 4 ข้อพิพาทนี้ไปศาลโลก ส่วนการเจรจาระดับทวิภาคี JBC ก็ยังมีอยู่ แต่คุยกันในประเด็นอื่นๆ ซึ่งมีอีกหลายจุดที่ยังไม่ปักปันเขตแดน แต่กัมพูชามองว่า 4 จุดนี้เป็นปัญหาที่ต้องนำไปสู่ศาลโลก และหวังว่าจะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันได้ และ ICJ เป็นบุคคลที่ 3 ที่เชื่อถือได้ จะได้ยุติข้อขัดแย้งนี้เสียที และในที่สุดหากตกลงกันไม่ได้ผ่าน ICJ ก็หวังว่าองค์การสหประชาชาติหรือ UN จะมาช่วยหาข้อยุติเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย” นายไพ สีพาน กล่าวย้ำ