ASEAN

นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุม Abis พร้อมส่งเสริมการลงทุนทุกด้านกับอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด งาน ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ Abis ที่จัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมกันจัดงาน ภายใต้หัวข้อ “Empowering ASEAN 4.0” เพื่อเป็นเวทีให้ภาครัฐและเอกชนในอาเซียนได้แสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนความเห็นใน 3 ประเด็น ได้แก่ การอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าที่เชื่อมโยงและเป็นมาตรฐานเดียวกัน การเตรียมความพร้อมของอาเซียนให้เท่าทันการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และนโยบายของอาเซียนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย.62

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ระบุว่า รัฐบาลปัจจุบัน ได้ผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น การค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานระหว่างการค้า การลงทุน แบบ online และ offline ควบคู่กันไป ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลแล้ว โดยมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในด้านความมั่นคงทางสังคม และ ในมิติด้านเศรษฐกิจ มีการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public and Private Partnership – PPP) ถือเป็นสิ่งที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งของความร่วมมือที่มีอยู่ในขณะนี้ การผลักดันโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ EECโดยมีโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ (Megaprojects) ที่สำคัญ 4โครงการ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุดของการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน

โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนองคาพยพทางเศรษฐกิจของไทย อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง และเศรษฐกิจ BCG

รวมทั้งโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่ความเชื่อมโยงเป็นไปอย่างอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องเตรียมความพร้อม และรัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่สำคัญที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน คือ ACMECS RCEP และ GMS ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดสำคัญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน ผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบของความร่วมมือ คือ การเชื่อมโยงกับประเทศและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งทางบก ทางทะเล และน่านฟ้า

Related Posts

Send this to a friend