AROUND THAILAND

แม่น้ำโขงผันผวนหนักหลังเขื่อนจีนปล่อยน้ำระลอกใหญ่ ทำ ไก และปลา หลุดหาย

แม่น้ำโขงผันผวนหนักหลังเขื่อนจีนปล่อยน้ำระลอกใหญ่ ทำ ไก และปลา หลุดหาย กระทบรายได้ครัวเรือนชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำ

วันนี้ (30 ม.ค. 67) เว็บไซต์ Mekong Dam Monitor เผยแพร่ข้อมูลว่า ระดับอ่างเก็บน้ำในเขื่อนเสี่ยวานของจีน ระหว่างวันที่ 15-21 ม.ค.ที่ผ่านมา ลดลงประมาณ 4.7 เมตร ส่งผลให้มีการปล่อยน้ำเกือบหนึ่งพันล้าน ลบ.ม. ลงสู่ท้ายน้ำ ระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค.ที่ผ่านมา และระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว วัดระดับได้ ณ ท่าเชียงแสน ประเทศไทย ที่อยู่ท้ายน้ำห่างจากเขื่อนเสี่ยววานระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร

Mekong Dam Monitor รายงานด้วยว่า การปล่อยน้ำส่งผลเสียต่อการอพยพของปลา การทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำ และการดำรงชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคนที่อาศัยตลอดเส้นทางแม่น้ำ โดยคาดว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขื่อนเสี่ยววานจะปล่อยน้ำปริมาณ 5 ถึง 7 พันล้าน ลบ.ม. สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า จากการมอนิเตอร์ระดับน้ำ และความขุ่นของน้ำ พบว่าเมื่อ เกิดปรากฏการณ์ความขุ่นของน้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในวันที่ 18 ม.ค. วัดความขุ่นอยู่ที่ระดับ 23 ซม. จนกระทั่งวันที่ 29 ม.ค. วัดความขุ่นได้ 40 ซม. ขณะที่ระดับน้ำก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยวันที่ 18 ม.ค. ระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำ อ.เชียงของ อยู่ที่ 1.42 เมตร และในวันที่ 29 ม.ค. ระดับน้ำอยู่ที่ 1.77 เมตร

ทั้งนี้ ใน 10 วันที่ผ่านมา น้ำในแม่โขงมีความผันผวน และช่วงเวลาหนึ่งมีความขุ่นที่เกิดขึ้นมาก ซึ่งน่าจะเกิดจากการระบายตะกอนจากเขื่อนตอนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน ในช่วงหัวน้ำที่ส่วนใหญ่จะเป็นตะกอน ตามด้วยมวลน้ำจำนวนมาก แม้ในช่วงนั้นจะมีฝนตก แต่จากการสังเกตพบว่าแม่น้ำสาขายังใสอยู่ ขณะที่แม่น้ำโขงกลับมีความขุ่นเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เทียบได้กับฤดูน้ำหลาก และหลังจากน้ำจะใสขึ้นอย่างฉับพลันเช่นกัน

“ความผันผวนที่น้ำขุ่นและระดับน้ำที่ยกตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขงที่กำลังเกิดขึ้นจำนวนมากหลุดหายไปในทันที ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านจำนวนมากทั้งสองฝั่งน้ำโขงกำลังเก็บไก เพราะเป็นช่วงฤดูการเก็บไก ที่จะเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนของคนชุมชน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่สามารถเก็บไกได้เลย ต้องรออีกไม่น้อยกว่า 1-2 สัปดาห์ กว่าไกจะยาวพอที่จะเก็บได้อีกครั้ง ชาวบ้านจะเผชิญกับความผันผวนไม่แน่นอนของสภาพแม่น้ำโขงที่ต้องปรับตัวไปตามการปล่อยน้ำและกักน้ำของเขื่อน” ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว

นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของสภาพแม่น้ำโขงอันส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนของชาวบ้านที่ได้จากฤดูเก็บไกแล้ว ขณะเดียวกัน ปลาในแม่น้ำโขงก็ลดลงจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งทำให้ชาวบ้านและชาวประมงต่างเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนโดยไม่สามารถกำหนดอะไรได้

Related Posts

Send this to a friend