AROUND THAILAND

ชลประทานย้ำ “ไม่เหมือนปี 54” เร่งจัดการน้ำ ช่วยประชาชน

กรมชลประทาน เน้นย้ำ ปีนี้จะไม่ท่วมหนักเหมือนปี 2554 ที่มีพายุเข้ามาถึง 5 ลูก เร่งการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดระดับน้ำให้ได้มากที่สุด มีการเตรียมการ และเตรียมความพร้อมอย่างดีที่สุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

วันนี้ (28 กันยายน) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุการเกิดน้ำท่วมในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือเกิดจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านเป็นแนวฝน (พายุเตี้ยนหมู่) เข้ามาทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน ประมาณ 3-4 ครั้งในช่วง 3 สัปดาห์ ทำให้เกิดฝนตกหนัก มีน้ำป่าไหลหลาก จนเกิดน้ำท่วมขึ้น

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ปริมาณน้ำที่ลงมาจาก อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อต้นเดือนมีน้ำเพียง 40 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันขึ้นมาเป็น 800 ล้านลูกบาศก์เมตรทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้น จึงต้องมีการเร่งระบายน้ำ 400 ลูกบาศก์เมตร ต่อ วินาที ลงทางแม่น้ำป่าสักแล้ว

ทางด้านตอนเหนือ ลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัย ปริมาณฝนของทางฝั่งตะวันตกมีปริมาณมาก ตั้งแต่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอ บ้านด่านลานหอย อำเภอคีรีมาศ และอำเภอศรีสำโรงจึงทำให้เกิดน้ำท่วม แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำได้เริ่มลดลง

สถานการณ์ใน จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา ปริมาณน้ำเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณว่าน้ำจากจังหวัดชัยภูมิไหลลงแม่น้ำชีแล้ว ซึ่งแม่น้ำชีจะบรรจบกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี จะมีการจัดการน้ำ ลดฝายยางเพื่อเร่งการระบายน้ำ พร้อมเปิดประตูเขื่อนให้สัมพันธ์กับแม่น้ำชีด้วย

ทางเขื่อนลำเชียงไกร ทางกรมชลประทานได้มอบหมายให้ดำเนินการเพื่อปิดช่องขาดในบ่อก่อสร้าง เพื่อการปรับปรุง เพื่อกักเก็บน้ำ ลดปัญหาน้ำในพื้นที่ ประมาณ 3-4 วันจะควบคุมสถานการณ์ให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ทางกรมชลประทานประสานงานกับหลากหลายพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ โดยการจัดการจราจรทางน้ำ โดยประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์จะลดการระบายน้ำลง และเอาน้ำจากตอนเหนือไหลไปทาง คลองยม คลองน่าน คลองหกบาท ผ่านทางแม่น้ำน่าน พร้อมลดการระบายน้ำที่เขื่อนสิริกิติ์ และปรับการระบายน้ำที่เขื่อนนเรศวร เพื่อให้สอดคล้องกับการไหลลงของน้ำ เมื่อน้ำจากทางเหนือวิ่งมา จะดึงน้ำจากฝั่งตะวันตก ดึงผ่านประตูระบายน้ำคลอง 22 บางส่วนลงแม่น้ำน่าน บางส่วนลงแก้มลิงบางระกำ ซึ่งสามารถตัดยอดน้ำได้ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่ผ่านแม่น้ำน่าน จะกักเก็บที่บึงสีไฟ อีกส่วนเก็บที่บึงบอระเพ็ด ปัจจุบันเก็บได้ถึง 90% หรือประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำส่วนที่เหลือจะลงมายังเขื่อนเจ้าพระยา

ส่วนการเปรียบเทียบว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2554 ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยของการเกิดน้ำท่วมในปี 2554 คือ การเกิดพายุถึง 5 ลูก แต่ในขณะเดียวกัน ในปี 2564 มีเพียงพายุเตี้ยนหมู่เพียงลูกเดียว และปัจจุบันมีระบบที่ช่วยเหลือได้ดีมากกว่า พร้อมรัฐบาลมีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี รวมถึงการจัดการดูแลที่ดี พร้อมทั้ง 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ ยังมีน้ำน้อย ทำให้สถานการณ์ไม่เหมือนปี 2554 แน่นอน

ฝากให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางส่วนราชการ โดยเฉพาะทางจังหวัดที่ได้มีการประกาศออกไป เราจะช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้ดีที่สุด

Related Posts

Send this to a friend