สปส. แถลงผลงานเด่น ปี 64 นโยบายสำคัญปี 65
กับภารกิจสำคัญในดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ความสำคัญกับ “การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมโดยสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยทุกเพศภาวะและทุกกลุ่ม”
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ปี 2564 ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของสำนักงานประกันสังคมที่มีภารกิจในการให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำรงชีวิต ได้สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ภายใต้แนวทาง “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” โดยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน ให้ครอบคลุมทุกมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดผลกระทบจากปัญหาการว่างงาน การรักษาพยาบาล การเยียวยาเพิ่มเติม รวมถึงยกระดับระบบประกันสังคมและเพิ่มการเข้าถึงให้มีความครอบคลุมมากขึ้น พัฒนาสิทธิประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการ เป็นต้น
สปส.มีผลการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้
1. ช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
1) โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 ในกิจการและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ นายจ้างได้รับ จำนวน 187,695 ราย เป็นเงิน 31,701.86 ล้านบาท ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.66 ล้านราย ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.36 ล้านราย ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 7.18 ล้านราย เป็นเงิน 70,830.22 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,532.08 ล้านบาท
2) โครงการ ม33 เรารักกัน คนละ 6,000 บาท ผู้ประกันตนได้รับสิทธิกว่า 8.067 ล้านราย ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้าและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 1.08 ล้านราย ใช้จ่ายเงินทั้งสิ้น 48,185.85 ล้านบาท
3) ลดอัตราเงินสมทบให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 จำนวนกว่า 13 ล้านคน นายจ้าง 488,276 ราย ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 109,183 ล้านบาท ลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดเหลือร้อยละ 60 ของอัตราเงินสมทบปกติที่จัดเก็บ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1,874 ล้านบาท
4) เพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จำนวน 2 ครั้ง ผลการดำเนินงานครั้งที่ 1 อัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบ จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จำนวน 1,506,666 ราย เป็นเงิน 15,119.32 ล้านบาท ครั้งที่ 2 อัตราร้อยละ 50 จ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน จำนวน 986,098 ราย เป็นเงิน 4,552.92 ล้านบาท
5) ปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง/ลาออก/สิ้นสุดสัญญาจ้าง ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์แล้วกว่า 1.83 ล้านคน เป็นเงิน 45,846.49 ล้านบาท
6) จัดให้มีโครงการ Factory Sandbox (ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล) ครอบคลุมในพื้นที่ 12 จังหวัด มีสถานประกอบการเข้าร่วม 594 แห่ง
7) ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็ม 1 และเข็ม 2 ให้ผู้ประกันตน จำนวนกว่า 3.3 ล้านโดส
8) การรักษาโควิด 19 ให้กับผู้ประกันตนแล้วกว่า 521,771 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิน 25,512.25 ล้านบาท
9) จัดหาเตียง Hospitel ร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ประกันตน ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 18,519 เตียง
10) การให้บริการสายด่วน 1506 กด 6 เรื่องประสานหาเตียง กด 7 เรื่องการฉีดวัคซีน รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,137,971 ครั้ง
11) โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มมาตรการเชิงรุกด้วยการปล่อยกู้ให้สถานประกอบการเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ UOB Exim Bank กรุงเทพ กรุงไทย และกสิกรไทย มียอดปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 4.8 พันล้านบาท สามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างในระบบไว้ได้กว่า 4 หมื่นคน
2. ยกระดับระบบประกันสังคมและเพิ่มการเข้าถึงให้มีความครอบคลุมมากขึ้น พัฒนาสิทธิประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการ เข้าถึงบริการ
1) ขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานอิสระภาคสมัครใจ สร้างความเข้มแข็ง และ ขยายเครือข่ายในระดับตำบล หมู่บ้าน ชุมชน โดยมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ ขยายอายุการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จาก 60 ปี เป็น 65 ปี รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าทำศพให้กับผู้ประกันตนในทุกทางเลือก รวมทั้งเพิ่มช่องทางชำระเงินสมทบ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย
2) การพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ให้แก่ ลูกจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้แก่ การเพิ่มสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร จาก 600 บาท เป็น 800 บาท กรณีคลอดบุตร/ฝากครรภ์ จาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท ค่าฝากครรภ์ จากเดิม 3 ครั้งในอัตรา 1,000 บาท เป็น 5 ครั้ง ในอัตรา 1,500 บาท การเพิ่มค่าทำศพกองทุนเงินทดแทนจาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท
3) พัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความทันสมัยด้วยความสะดวกสบายในยุคดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน อาทิ เพิ่มช่องทางในการชำระเงินสมทบผ่านระบบ E-payment ด้วยธนาคารและหน่วยบริการชั้นนำกว่า 11 แห่ง การยื่นแบบและการส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้นายจ้างและผู้ประกันตนยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จผ่านระบบ E – receipt ด้วยตนเอง
4) ด้านบริการทางการแพทย์
- ขยายระยะเวลา MOU การให้บริการทางการแพทย์ กรณีดูแลรักษาด้วยการทำหัตถการด้านหัวใจและหลอดเลือดให้กับผู้ประกันตนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติ
– ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากวัคซีนโรคโควิด 19 โดยผู้ประกันตนคนไทยให้ใช้สิทธิจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง สปสช.) เนื่องจาก สปสช. ได้รับงบประมาณสำหรับดูแลคนไทยแล้ว ในส่วนของประกันสังคมจะดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยปรับปรุงสูตรโปรโตคอลการรักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติม 3 รายการ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง และมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยครอบคลุมทั้งการรักษาประเภทผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน และรายการยาทุกรายการที่ระบุในโปรโตคอล
5) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มคู่สาย 1506 กด 6 กด 7 ตอบคำถามเรื่องการตรวจคัดกรอง รักษา การจัดหาเตียงและวัคซีนโควิด 19
ในโอกาสนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของสำนักงานประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งโจทย์สำคัญยังคงเป็นการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง
โดย สปส.จะบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นำยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวงแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สืบสาน รักษา ต่อยอด “MOL ฟื้นฟู พลิกโฉม ตลาดแรงงานไทย” ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบนโยบายในส่วนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในส่วนของสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ “3 ขอ” ได้แก่ ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกันตน สถาบันการแพทย์เพื่อผู้ประกันตน สร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนในราคาถูก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง สร้างแอพพลิเคชั่น ประกันสังคมร่วมกับร้านค้าเพื่อเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน และ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. สร้างองค์ความรู้ให้แก่สถานประกอบการได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อลดอัตราการอุบัติเหตุและอันตรายจากการทำงาน สปส.พร้อมขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “SSO TRUST” เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ซึ่งในปี 2565 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน ครอบคลุมทั้งด้านการให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน ด้านการให้บริการ และด้านการบริหารองค์กร รวมถึงเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษา พัฒนา และขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง