AROUND THAILAND

‘โบราณสถานสงขลาเมืองเก่า’ ถูกบุกรุกร้ายแรง ‘เจดีย์ภูเขาน้อย’ อายุกว่า 1,400 ปี เสี่ยงพังทลาย

‘โบราณสถานสงขลาเมืองเก่า’ ถูกบุกรุกร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ‘เจดีย์ภูเขาน้อย’ อายุกว่า 1,400 ปี เสี่ยงพังทลายจากการบุกรุกเปิดหน้าดินใกล้ฐานเจดีย์เพียง 34 เมตร กรมศิลปากร และกรมป่าไม้ แจ้งความดำเนินคดีแล้ว 12 คดี ภาคประชาชนจี้หาตัวผู้กระทำผิด หวั่นกระทบเสนอสงขลาเมืองเก่าเป็นมรดกโลก

“เศร้าใจ ตกตะลึก จากภาพถ่ายที่เห็นจากโดรนยังไม่เสียหายที่เห็นด้วยตา เพราะการเข้าไปทำลายเกิดขึ้นหลังจากนั้น ที่ถูกบุกไปดำเนินการ เมื่อไปตรวจอีกครั้ง ตั้งแต่ ก.ย.64-ก.พ.65 พบว่ามีการเข้าไปดำเนินการบุกรุกเข้าไปทำลายอย่างร้ายแรง ใช้เวลาสั้นมาก เมื่อเห็นสภาพความเสียหาย เป็นที่ตกตะลึงของผู้พบเห็นทั้งหมด”

นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 เปิดเผยว่า การบุกรุกโบราณสถานสงขลาเมืองเก่า อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่สุด เพราะแสดงให้เห็นถึงการย่ามใจในการทำลายโบราณสถานที่ทรงคุณค่าของชาวสงขลา หรือ ของชาติ ถือเป็นการบุกรุกโบราณสถานที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจุดที่มีการขุดดินจนไปถึงจุดที่ตั้งฐานเจดีย์ภูเขาน้อย เพียง 34 เมตร

“จุดที่ถูกบุกรุกจุดที่ 1 อยู่บริเวณพื้นที่หัวเขาแดง มีการทำทางเดินขึ้นหัวเขาแดง และ จุดที่ 2 บริเวณเขาน้อย มีโบราณสถานเจดีย์ภูเขาน้อย อายุกว่า 1,400 ปี มีการบุกรุกเปิดหน้าดิน เนื้อที่ 7 ไร่ เสียเนื้อดินไปกว่า 200,000 ลบม. ทำให้เจดีย์ภูเขาน้อยมีความเสี่ยงจะพังทลาย มีโอกาสเกิดดินสไลด์ ได้”

นายพงศ์ธันว์ เปิดเผยว่า จากการบุกรุกทั้ง 2 จุด มีความเสียหายอย่างน้อยที่สุด 20 ล้านบาท ในบริเวณเขาน้อย แต่เป็นมูลค่าพื้นฐานถ้าเปรียบเทียบตัวแหล่งโบราณสถาน ประเมินค่าไม่ได้ การประเมินมูลค่าความเสียหาย เฉพาะตัวดินที่หายไป และ มีการเสียหายทางป่าไม้ด้วย ซึ่งต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงการนำคนผิดมารับโทษ

สำหรับจุดเสียหายที่ 1 บริเวณหัวเขาแดงมีการเปิดหน้าดิน ทำเส้นทาง ระยะทางกว่า 1.5 กิโลเมตร หน้าดินกว้าง 5 เมตร เปิดหน้าดินสูง และลึก แต่ยังอยู่ห่างจากที่ัต้งโบราณสถาน องค์ขาว องค์ดำ และป้อมหมายเลข 8 แต่พื้นที่ทั้งหมด 2,460 ไร่ อยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นโบราณสถานสงขลาเมืองเก่า ตั้งแต่ปี 2535 และเป็นพื้นที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 กรมศิลปกากร โดยสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา และ กรมป่าไม้ ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ สภ.สิงหนคร ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564

“เรื่องผู้ต้องหาเรายังไม่ทราบ อยู่ในขั้นตอนพนักงานสอบสวนของตำรวจ แต่คาดว่า เป็นนักธุรกิจในพื้นที่ เพราะมีลักษณะของการลงทุน ที่คนธรรมดาทั่วไป คงไม่ใช้เวลาวันว่างไปไถภูเขาเล่น ซึ่งมีการใช้เครื่องจักร เชื้อเพลิง ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะจุดที่ 2 บริเวณเจดีย์เขาน้อย ผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอก เป็นลักษณะ การกระทำด้วยความย่ามใจ โดยจุดที่ 1 กับ จุดที่ 2 คาดว่าเป็นคนละกลุ่ม น่าจะเกี่ยวข้องกับการปลูกไม้ยาง ที่ไปบรรจบกับป้อมหมายเลข 9 ไม่สามารถไปต่อได้ จึงพยายามตัดภูเขา น่าจะเปลี่ยนภูเขาเป็นที่ราบ หรือเอาดินไปขาย”

ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 เปิดเผยว่า นักธรณีวิทยาได้ไปตรวจสอบ พบว่าพื้นที่ตั้งโบราณสถานสงขลาเมืองเก่า มีสภาพลักษณะ ทางธรณีวิทยา ภูเขาทรงฝาชี การเสื่อมสภาพจะเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้ามีการตัดเฉือนออกไป กระบวนการผุพังทางธรณีวิทยาจะผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ส่วนของหินบางส่วนแตกหักลงมา การตรวจความผุพังความคงทนของเนื้อหินลดลงเหลือ 13 % ชั้นดินบางมาก ไม่มีอะไรมาอุ้มน้ำ ให้เกิดน้ำหนักสัดส่วน พังทลายลงมา แต่กระบวนการผุพัง ผิดปกติ กระบวนการทางธรณีวิทยา อยุ่ในภาวะความเสี่ยง ซึ่งปกติการจะขอประกอบการเช่น ทำเหมืองในพื้นที่ใกล้โบราณสถาน จะให้ระยะปลอดภัยที่ 1 กม.ถึงจะให้ทำอีไอเอ แต่กรณีนี้ไม่ถึง 50 เมตร ยังเดินหน้าไม่ยอมหยุด ยังก่อเหตุต่อ จึงต้องให้ความสำคัญและน่ากังวล

“จากจุดที่มีการเบิกหน้าดินห่างจากโบราณสถานเจดีย์เขาน้อย 34 เมตร และเกือบถึงป้อมหมายเลข 9 แล้ว ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ทำลายอย่างชัดเจน และร้ายแรงที่สุด”

นายพงศ์ธันว์ เป็นห่วงผลกระทบทางโบราณสถาน ที่ไม่รู้ว่าดินจะสไลด์เมื่อไหร่ หน้าฝนเริ่มแล้ว ช่วงที่ผ่านมา ดินที่ทับถมชั้นหิน เริ่มที่จะถูกเซาะ พังทลายลงมา ในพื้นที่เห็นหลายต้นเสียหาย เมื่อที่ตั้งไม่ปลอดภัย ความมั่นคงทางโครงสร้างต้องได้รับการตรวจสอบ ปกติจะมั่นใจว่าบนภูเขาฐานรากต้องแน่นและมั่นคง แต่เมื่อเกิดการบุกรุกทำให้ทุกฝ่ายเป็นห่วง จึงต้องหาทางฟื้นฟูโดยเร็ว

“โบราณสถานเจดีย์ภูเขาน้อย เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลอินเดีย ที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ ถ้าได้รับความเสียหายหมายความว่า ประจักษ์พยานทางวัฒนธรรมถูกทำลายไป เราจะทำลายของที่เรามีเพื่อไปดูประเทศอื่น ในขณะที่ระบบวัฒนธรรมเรามีมากมายแต่ถูกทำลายไปทีละนิด ก็ไม่สมควร “

ในขณะที่โบราณสถานสงขลาเมืองเก่า มีอายุกว่า 400 ปีจากยุคกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ 22 ก่อตั้งโดยดาโต๊ะ โมกอล และปกครองต่อมาโดยสุลต่านสุลัยมาน ผู้ปกครองชาวมุสลิมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้าจนมีชื่อเสียงของชาวต่างชาติ ทั้ง ดัตซ์ อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมทั้งอินเดีย ความเสียหายครั้งนี้จึงร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

Related Posts

Send this to a friend