AROUND THAILAND

เปิดข้อเท็จจริงอีกด้าน พื้นที่พิพาทเกาะหลีเป๊ะ สร้างรายได้ปีละกว่า 2 ล้าน ปล่อยเช่าเป็นท่าขนของ

เปิดข้อเท็จจริงอีกด้าน พื้นที่พิพาทเกาะหลีเป๊ะ สร้างรายได้ปีละกว่า 2 ล้านบาทให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ปล่อยเช่าเป็นท่าขนของหลักของเกาะ เจ้าของกรรมสิทธิ์ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อ

สถานการณ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะมีปัญหาพิพาทกับผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ทับซ้อนทางเดินสาธารณะของชุมชน บริเวณถนนข้างโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะถึงชายหาดซันไรส์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา The Reporters ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงส่วนต่างๆ ดังที่ได้รายงานพบว่า

พื้นที่พิพาทมีลักษณะเป็นทางเดินความกว้างประมาณ 5 เมตร ความยาวประมาณ 100 เมตร มีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นผู้ครอบครองตามหนังสือ นส.3 เลขที่ 11 ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของนางดารา อังโชติพันธุ์ บุตรสาวของโต๊ะคีรี ผู้บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ แล้วแบ่งที่ดินเป็น 6 แปลงมอบให้ลูกหลานและแบ่งขายให้บุคคลอื่น โดยมี 1 แปลงที่อยู่ฝั่งทิศใต้ของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ มีลักษณะเป็นทางยาวอยู่ระหว่างกำแพงโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะและรีสอร์ทแห่งหนึ่งหน้าหาดซันไรส์

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินนี้ เผยกับผู้สื่อข่าว The Reporters ว่า ที่ดินผืนนี้เคยเป็นของนางดารา-นายบรรจง อังโชติพันธุ์ แบ่งให้กับลูกหลานเป็นมรดก รวมถึงมอบที่ดินของโรงเรียนและสถานีอนามัยให้กับกรมธนารักษ์ด้วย ในวันที่เกิดเหตุ (24 พฤศจิกายน 2565) ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ ตั้งใจเข้ามารังวัดที่ดิน แต่ชาวบ้านในบริเวณนั้นไม่พอใจ เข้ามาขัดขวาง ไม่ยอมให้วัดที่ดิน เพราะชาวบ้านใช้เป็นทางสัญจรเข้าโรงเรียน สถานีอนามัย ไปหน้าหาดเพื่อลงเรือประมง-ดูแลเรือ

แหล่งข่าวฯ เชื่อว่า ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ไม่มีเจตนาจะปิดทาง เพราะที่ผ่านมาก็เปิดให้ชาวบ้านได้ใช้พื้นที่ส่วนบุคคลนี้เป็นทางผ่านมาตลอด แต่สถานการณ์ในวันนั้น ชาวบ้านเข้ามาต่อว่า ท้าทาย ทำให้ความอดทนถึงจุดสูงสุด จึงให้ช่างมาดำเนินการตั้งรั้ว บริเวณปากซอยฝั่งชุมชน และตรงประตูทางเข้าโรงเรียนฝั่งที่ติดกับซอยนี้ เกิดเป็นประเด็นในสังคม ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรเลย ถ้าคุยกันดีๆ

รวมถึงในที่ดินนี้ ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ ก็ได้รับประโยชน์จากการเปิดให้เอกชนใช้เช่าเป็นท่าขนสินค้าขึ้นเกาะ มีทั้งเอกชนเจ้าของร้านค้า โรงแรม และโรงไฟฟ้าเอกชนในเกาะใช้เป็นทางหลักในการขนสินค้า ซึ่งโรงไฟฟ้าจะนำของเสียมาทิ้งใส่เรือแพ และรับขนวัสดุก่อสร้างขึ้นเกาะ เอกชนใช้ขนสินค้าของอุปโภค-บริโภคขึ้นมาจำหน่ายบนเกาะ รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นใช้เป็นทางขนขยะบนเกาะขึ้นเรือแพเพื่อไปจัดการขยะบนฝั่ง รวมรายได้จากการปล่อยให้เช่า ปีละกว่า 2,000,000 บาท จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์จะปิดทางเข้าออก เพราะคือแหล่งรายได้ที่สำคัญ

แหล่งข่าวอีกราย ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ตัดสินใจจะทำรั้วปิดทางเข้าออก และอนุญาตเฉพาะบุคคล เพราะในระยะหลังมีเอกชนบางรายไม่ยอมจ่ายค่าเช่า จึงจะทำทางกั้นเปิดให้เฉพาะเอกชนเจ้าที่จ่ายค่าเช่าเข้าออกได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเอกชนเหล่านั้นให้การสนับสนุนชาวบ้านให้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางสาธารณะ เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางเป็นประโยชน์ทางธุรกิจ

ชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะ เผยว่า หนึ่งในเหตุผลที่ค่าครองชีพบนเกาะสูง ทั้งสินค้าราคาแพง ค่าที่พักแพง เพราะสินค้าต่างๆ มีต้นทุน ทั้งค่าขนส่ง และค่าผ่านทางในพื้นที่พิพาทนี้ หากจะสร้างบ้านสักหลังที่ต้องซื้อวัสดุจากฝั่ง ต้องเสียค่าขนใส่แพและค่าผ่านด่าน เช่น ซื้ออิฐบล็อคจะมีค่าขนส่งใส่เรือแพ 2,000 บาทต่อแพ็ค และค่าผ่านทางขึ้นเกาะ 400 บาทต่อแพ็ค ราคาอิฐไม่แพงเท่าค่าขนส่ง บ้านจึงใช้เวลาสร้างนานและใช้ทุนสูงกว่าการสร้างบ้านบนฝั่ง หรือราคาน้ำดื่มธรรมดา ขนาด 600 มิลลิลิตร สามารถซื้อได้ทั่วไปในราคาขวดละ 7 บาท แต่มีราคาที่เกาะหลีเป๊ะ ตั้งแต่ 14-30 บาท หรือราคาค่าไฟฟ้าบนเกาะ ที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าเอกชน ราคาหน่วยละ 29 บาท ทั้งนี้ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าค่าใช้จ่ายผ่านทางในพื้นที่พิพาท มีการเก็บมาตั้งแต่ปี 2557

หลังผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลดังกล่าว ได้ติดต่อไปยังผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปรากฎว่า ติดต่อได้ แต่ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่เกิดขึ้น

ทศ ลิ้มสดใส รายงาน

Related Posts

Send this to a friend