AROUND THAILAND

กรมชลฯ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 29/2565 เรื่อง “เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน” กอนช. ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 20-22 ส.ค. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

กอนช. ยังได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันรวม ขณะที่บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในช่วงวันที่ 20-24 ส.ค. 65 โดยให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง โดยภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงรายเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และตาก , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย และอุดรธานี , ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

นอกจากนี้ ขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหงโก-ลก

รวมทั้งให้เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยเน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง

ส่วนพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง และความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือรวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

Related Posts

Send this to a friend