AROUND THAILAND

‘ประยงค์’ ชี้ ข้อพิพาทหลีเป๊ะ อาจต้องรอการแก้ไขในรัฐบาลหน้า

‘ประยงค์’ ชี้ ข้อพิพาทหลีเป๊ะขาดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม คำสั่งการเริ่มเข้าสู่ ‘เกียร์ว่าง’ อาจต้องรอการแก้ไขในรัฐบาลหน้า

วันนี้ (18 ม.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ทำเนียบรัฐบาล นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แถลงสรุปการประชุม หลังตัวชาวเลเกาะหลีเป๊ะเข้าร่วมประชุม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

นายประยงค์กล่าวว่า ได้มีรายงานว่าทางรัฐมนตรีประจำสำนักนายก นายอนุชา นาคาศัย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีของเกาะหลีเป๊ะ และเมื่อกลับมาก็ได้ให้ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาของเกาะหลีเป๊ะ โดยให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ และยังมีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาของชาวเล เป็นกรรมการร่วมด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการชุดนี้ก็ได้เริ่มมีการทำงานแล้ว เมื่อวานนี้ทางคณะกรรมการก็ได้มีการไปประชุมร่วมกับกรมที่ดิน และได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิ์มาพอสมควร

นายประยงค์ ยังกล่าวต่อว่า จากการประชุมพบว่าระยะเวลาในการอยู่อาศัยของชาวเลและระยะเวลาในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งที่มีความขัดแย้งนั้น มาจากการออกเอกสารสิทธิ์ที่ทับไปบนพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ ได้มีการเสนอให้มีการเพิกถอน และทางอุทยานได้มีการฟ้องร้องเอกชนที่ทำการบุกรุกพื้นที่อุทยาน แต่เอกชนก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ของอุทยาน โดยในวันที่ 22 มกราคมนี้ คณะกรรมการชุดที่แต่งตั้งขึ้นจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องของเอกสารสิทธิ์ที่กำลังมีความขัดแย้ง ส่วนหนึ่งกำลังอยู่ในศาล อีกส่วนหนึ่งจะพิจารณาจากการไปลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 22 นี้ ร่วมกับรายงานจากกรมที่ดินที่ทำการตรวจสอบเมื่อวานนี้ว่าตรงกันหรือไม่

เรื่องข้อพิพาทของเกาะหลีเป๊ะนั้นได้มีการตรวจสอบผ่านคณะกรรมการหลายชุด ทั้งคณะกรรมการชุดพลเอกสุรินทร์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ทำการชี้แล้วว่าเอกสิทธิ์ถูกออกโดยมิชอบ และต้องทำการเพิกถอน ในส่วนของข้อมูลและรายงานจากหน่วยงานต่าง ๆ มีเพียงพอแล้ว เพียงแต่ว่ายังขาดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

อีกกรณีหนึ่งคือในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของปลายรัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระใน วันที่ 24 มีนาคม 2566 นี้ จึงทำให้การสั่งการต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่ ‘เกียร์ว่าง’ คือการที่หน่วยงานเริ่มที่จะไม่ทำตามคำสั่ง ซึ่งอาจจะต้องรอการแก้ปัญหาในรัฐบาลหน้า แต่คำสั่งการแต่งตั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ก็ยังคงมีอยู่ ยังคงสามารถดำเนินการไปจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่และสามารถทำงานต่อได้อย่างน้อย 3 ปี

Related Posts

Send this to a friend