AROUND THAILAND

‘สุชาติ’ เคาะ MOU นำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา สกัดแรงงานเถื่อนทะลักเข้าไทย

วันนี้ (12 พ.ย.64) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 18/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังไทยต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT–PCR 2 ครั้ง

กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อฯ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งวันสุดท้ายของการกักตัวแรงงานต่างด้าวที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยกระทรวงแรงงานเป็นผู้จัดหาให้ ในส่วนของเข็มที่ 2 กระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทางเพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด

โดยการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทย มีค่าใช้จ่ายรวม 11,490–22,040 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ประกอบด้วยค่าตรวจโควิด 2 ครั้ง 2,600 บาท ตรวจลงตราวีซ่า (2 ปี) 2,000 บาท ใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท ตรวจสุขภาพ 6 โรค 500 บาท ค่าประกันสุภาพรวมโรคโควิด-19 (บริษัทประกันภัยเอกชน 4 เดือน) 990 บาท ค่าบริการทางการแพทย์ (ฉีดวัคซีน) 50 บาท และค่าสถานที่กักตัว (วันละ 500–1,000 บาท) กักตัว 7 วัน 3,500/7,000 บาท และกักตัว 14 วัน 7,000–14,000 บาท

MOU นำเข้าแรงงานต่างด้าวนี้จะเริ่มใช้หลังวันที่ 30 พ.ย.64 เป็นต้นไป โดยแนวทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายระหว่างนี้ จะยึดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ย.64 ที่กระทรวงมหาดไทยออกประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางกลุ่มอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ จนถึง 30 พ.ย.64 เพราะต้องการทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายในไทยขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องทั้งหมดก่อน โดยหลังวันที่ 30 พ.ย.64 หากนายจ้างมีแรงงานผิดกฎหมาย ไม่ขึ้นทะเบียน จะมีโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน หากกระทำซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี


ส่วนค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่อาจทำให้นายจ้างรายย่อยรับไม่ไหว นายสุชาติ กล่าวว่า การนำเข้าแรงงานเป็นค่าใช้จ่ายของนายจ้างอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือ ประกันสุขภาพ ที่นายจ้างต้องออกให้ หากอยู่ในระบบประกันสังคมต้องเสียค่าประกันสุขภาพ 4 เดือน แต่หากเป็นแรงงานภาคเกษตร งดเว้นทำประกันสังคมต้องเสียค่าประกันสุขภาพ 2 ปีให้กัยกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,200 บาท ถัดมาคือโรงแรมกักตัวที่นายจ้างต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งรัฐไม่ได้กำหนดราคากลางไว้ เพราะไม่มีสิทธิเข้าไปปิดกั้นเอกชนได้ โดยจากการหารือกับนายจ้างพบว่า นายจ้างยอมรับที่จะเสียค่าใช้จ่าย เจ้าของกิจการยอมรับได้ เพราะดีกว่าจ่ายเงินเข้ามาในประเทศแบบผิด ๆ โดนจับไม่คุ้ม

“อยากให้ลองคิดในมุมเขามุมเรา หากเป็นนายจ้างก็จะรอ ไม่เสี่ยงโอนเงิน ไม่นำเข้าผิดกฎหมาย ส่วนแรงงานก็จะไม่มาให้โดนจับ”

ทั้งนี้ตัวเลขแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติในไทยที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย มีทั้งหมดกว่า 520,000 คน และยังมีที่รอกลับเข้าไทยอีกราว 300,000 คน เบื้องต้นจะเปิดพรมแดนสำหรับแรงงานต่างด้าว 5 จุด ได้แก่ สระแก้ว ตาก ระนอง หนองคาย มุกดาหาร และกำลังพิจารณาเปิดพรมแดนอื่น ๆ เช่น กาญจนบุรี และกำแพงเพชร เพิ่มเติม หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ออเดอร์แรงงานอาจทะลักเข้ามาหลังเริ่มใช้ MOU กระทรวงแรงงานจึงตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ไปในแต่ละจังหวัด ซึ่งหากสถานที่กักตัวไม่เพียงพอก็อาจจะใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล

“อยากให้มองเป็นภาพบวก นโยบายเปิดประเทศเป็นนโยบายที่ชิงความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจ อยากให้มองออกเป็น 2 แป้น แป้นแรกคือภาคการส่งออกที่ไทยยังคงอยู่ได้ แต่อีกแป้นคือท่องเที่ยวพังไปแล้ว ซึ่งหากสร้างเงินได้พร้อมกัน ไทยจะเป็นผู้นำในภาคเศรษฐกิจ”

สำหรับขั้นตอนการนำเข้าแรงงานต่างด้าว มีแนวทางการดำเนินการ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกักตัวคนต่างด้าว ได้แก่ ค่าสถานที่กักตัว ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือซื้อประกันฯ ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

2. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางาน และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง

3. นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง

4. กรมการจัดหางานมีทำหนังสือถึงสถานทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้

5. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ผลตรวจโควิด-19 และหลักฐานการได้รับวัคซีน(ถ้ามี) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตวีซ่า (Non – Immigrant L-A) เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้เท่านั้น และต้องเดินทางตามเส้นทางที่กำหนด ห้ามแวะสถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว

6. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรค กักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT – PCR ดังนี้

6.1 คนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง

6.2 คนต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้าง ซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา

7. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

Related Posts

Send this to a friend