AROUND THAILAND

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จับมือ มทส. มอบไก่โคราชกว่าหนึ่งพันตัวให้เกษตรกร ส่งเสริมการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) เปิดตัวโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน (Farm Champion Project) เน้นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูง โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มอบลูกไก่สายพันธุ์โคราชกว่า 1,000 ตัว ให้แก่เกษตรกรรวม 6 จังหวัด สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยหันมาสนใจสวัสดิภาพของไก่ในฟาร์มภายใต้แนวคิด Good Life Standards หรือมาตรฐานการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ทำให้ไก่จะมีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และรับรู้ถึงความสุขมากกว่าความทุกข์ตลอดอายุขัย

องค์กรฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 11 ราย ทั่วประเทศไทยใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา กาญจนบุรี ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ เพื่อทดลองเลี้ยงไก่ 100 ตัวต่อรุ่นในแต่ละฟาร์ม โดยจะทำการเลี้ยงไก่ 2 รุ่น ในระยะเวลา 1 ปี ใช้สายพันธุ์์ไก่โคราช ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไก่โตช้าที่ถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใช้เวลาเลี้ยงราว 3-4 เดือน โดยจะได้ผลผลิตน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อตัว ด้วยน้ำหนักที่ไม่มากไปและอายุยาวนาน ทำให้ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากสายพันธุ์ที่ตัดแต่งจนร่างกายใหญ่โตเร็วผิดปกติ และต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพเหมือนกับไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรม

แผ้ว ภิรมย์ ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า ระบบฟาร์มอุตสาหกรรมไก่เนื้อสร้างความทุกข์ทรมานให้กับไก่เนื้อนับพันล้านตัวต่อปีในไทย เราจะต้องเริ่มต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตสร้างความเข้าใจและใส่ใจต่อสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคควรมีทางเลือกที่จะเข้าถึงเนื้อไก่ที่มาจากแหล่งสวัสดิภาพสูง และโครงการฟาร์มแชมเปี้ยนเป็นการนำเสนอทางออกที่จะยุติความทุกข์ทรมานของไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรม เป็นการบุกเบิกให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบการผลิตอาหารที่มีจริยธรรมและยั่งยืน

นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับการสนับสนุนในด้านความรู้และทักษะจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูง เกษตรกรยังมีส่วนร่วมในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของไก่ รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของไก่ที่จะเป็นตัวบ่งชี้สวัสดิภาพที่ดีขึ้นในฟาร์ม อีกทั้งยังร่วมเสนอแนวคิดและผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในท้องถิ่น เช่น การเพิ่มคอนเกาะ กระบะทราย หรือสวนสมุนไพรให้ไก่จิกกิน เพื่อให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติอย่างอิสระและสัมผัสถึงความรู้สึกเชิงบวก

ผศ.ดร.วิทธวัช โมฬี อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะหัวหน้างานวิจัยของโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงไก่ในประเทศไทย การให้ลูกไก่โคราชแก่เกษตรกรไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบันไก่หลายหมื่นล้านตัวต้องทนทุกข์จากการเลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะไก่สายพันธุ์เร่งโตที่ถูกเพาะพันธุ์ให้มีเนื้อปริมาณมากในเวลาอันสั้น ทำให้ไก่ต้องทนทุกข์จากน้ำหนักตัวและสภาพแวดล้อมที่แออัด ไก่ที่บริโภคจึงมาจากระบบที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ ผู้เลี้ยง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แม้ไก่จะมีชีวิตสั้น แต่ก็มีความรู้สึกนึกคิด โครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน เพื่อลดความทุกข์ทรมานของสัตว์และสร้างสังคมที่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น และจะเป็นตัวอย่างนำร่องของการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงทั่วประเทศ

Related Posts

Send this to a friend