AROUND THAILAND

กรมอุทยานฯ เก็บตัวอย่างมูลค้างคาวดิน – สารคัดหลั่ง หลัง นทท.ติดเชื้อ ‘ฮิสโตพลาสโมซิส’

กรมอุทยานฯ เก็บตัวอย่างมูลค้างคาวดิน – สารคัดหลั่ง โพรงต้นช้าม่วง หลังพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อ ‘ฮิสโตพลาสโมซิส’

วันนี้ (6 ต.ค. 65) นายพีระชัย คงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เปิดเผยว่า หลังพบนักท่องเที่ยวเข้าชม “ค้างคาว” ใน โพรงต้นช้าม่วง ตรวจเจอเชื้อราในปอด ทำให้ป่วยด้วยโรคฮีสโตพลาสโมสิส ว่า หลังทราบเรื่อง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ร่วมกับนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า พร้อมทีมสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครองท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เข้าตรวจสอบพื้นที่เก็บตัวอย่างมูลค้างคาว ดิน และสารคัดหลั่งบริเวณโพรงต้นช้าม่วง ในพื้นที่ ม.5 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสงจ.นครศรีธรรมราช เพื่อส่งตรวจเชื้อ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย แล้ว

ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้ติดป้ายเตือนห้ามเข้าในพื้นที่ จัดทำแนวกั้นชั่วคราว พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ ตย.1 (น้ำตกคลองจัง) เฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด ห้ามนักท่องเที่ยวและราษฎรเข้าพื้นที่ดังกล่าว โดยจะจัดทำรั้วกั้นถาวรล้อมรอบต้นช้าม่วง ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ต้นช้าม่วงที่ถือว่าเป็นพันธุ์พืชป่าหายาก รวมทั้งเพื่อป้องกันการเข้าไปในโพรงที่อาศัยของค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็กด้วย

น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า ค้างคาวมักจะนอนพักกลางวัน เมื่อมีคนเข้าไปใรอุโมงค์ ส่งเสียงดัง การถ่ายภาพ แสงแฟลช การส่องไฟ ทำให้ค้างคาวตกใจ เครียด อึ ฉี่ และส่งเสียงร้อง จนเชื้อโรคต่างๆ ฟุ้งกระจายในโพรง หากนักท่องเที่ยวเข้าไปโดยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ก็อาจสูดเอาเชื้อโรคดังกล่าวเข้าไปได้ หรือแม้จะใส่หน้ากากอนามัย ก็อาจทำให้ร่างกายปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากค้างคาว จนเกิดโรคตามมาได้เช่นกัน

เบื้องต้น ทีมสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งมูลค้างคาว และดินภายในโพรงต้นไม้ รวมถึงสว็อปผนังโพรงต้นไม้ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ โดยวางแผนที่จะสำรวจและเฝ้าระวังโรคเชิงรุกในพื้นที่ด้วย ขณะที่กรมอุทยานฯ ได้จัดทำคู่มือความรู้ “การอยู่ร่วมกันกับค้างคาวอย่างปลอดภัย” แจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อตื่นรู้ และระมัดระวังในการดำเนินชีวิต

Related Posts

Send this to a friend