AROUND THAILAND

ชาวพุทธภาคใต้ ร่วมส่งตายาย ตามประเพณี สารทเดือนสิบ

พุทธศาสนิกชนชาวใต้ ออกจับจ่ายซื้อขนมเดือนสิบเพื่อทำบุญส่งตายาย หลังจากทำบุญแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งขนมเทียน ขนมลา ขนมพอง ขนมดีซำ ขนมบ้า โดยราคาขายยังเหมือนปีที่ผ่านมา แม้วัตถุดิบที่นำมาทำขนมจะปรับขึ้นก็ตาม

แม้หลายจังหวัดจะเข้มงวด ห้ามหลายกิจกรรมในช่วงนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่บรรยากาศส่งตายายในหลายพื้นที่ก็ยังคงคึกคัก ท่ามกลางมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ประเพณีวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันบุญแรก หรือวันรับตายาย โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ส่วนช่วงที่สอง ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นบุญหลัง หรือวันส่งตายาย ปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564 

ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวใต้ ถือว่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จึงมีการทำบุญใหญ่ใน 2 ช่วง

ส่วน “การชิงเปรต” เกิดขึ้นหลังจากที่ญาติพี่น้องนำขนมเดือนสิบที่ทำบุญ มาวาง หรือตั้งเปรตข้างๆ อัฐิของบรรพบุรุษ เพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้กินขนมดังกล่าว จนเมื่อเสร็จสิ้นพิธี ลูกหลานที่ร่วมในพิธีก็จะเข้าไปชิงขนมเดือนสิบกันอย่างสนุกสนาน เป็นที่มาของคำว่า “การชิงเปรต”

สำหรับขนมเดือนสิบที่นิยม ต่างมีความหมายแฝงที่น่าสนใจ อย่างขนมลา เป็นขนมที่ใช้แทนเสื้อผ้าที่อุทิศให้ผู้ล่วงลับ หลายคนเชื่อว่าเส้นเล็กๆของขนมทำขึ้นเพื่อให้เปรตกินโดยเฉพาะ เพราะเปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็มนั่นเอง ส่วนขนมพองมีความหมายใช้แทนเครื่องประดับที่มีสีสันสวยงาม ขนมดีซำหรือขนมเจาะหูใช้แทนเงินทอง เพราะมีลักษณะกลม เจาะรูตรงกลางคล้ายกับเงินสตางค์ที่ใช้กันในสมัยก่อน ขนมบ้าใช้แทนเงินเหรียญ เพราะมีลักษณะเป็นแผ่นกลมคล้ายเหรียญ ส่วนขนมเทียนใช้แทนหมอน

Related Posts

Send this to a friend