สัตวแพทย์ เผยอาการลูกช้างป่า ‘กันยา’ ดีขึ้น แผลเริ่มสมานตัว แต่ยังเดินได้ไม่มั่นคง

วันนี้ (5 ต.ค. 66) นางสาวทักษิณา จารุวัฒนานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) รายงานผลการปฏิบัติงานดูแลลูกช้างป่าพลัดหลง เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าลูกช้างป่ากินนมผง enfalac ความเข้มข้น 65 กรัม/500 มิลลิลิตร จำนวน 13 ครั้ง ปริมาณรวม 5.95 ลิตร อุจจาระ 1 ครั้ง ซึ่งถ่ายเป็นก้อนนิ่มสีเขียวจำนวนเยอะมาก (โดยการกระตุ้นรอบทวาร) ปัสสาวะ 3 ครั้ง (โดยการกระตุ้น 1 ครั้ง) นอน 7 ครั้ง รวม 3 ชั่วโมง 50 นาที
สำหรับด้านการบำรุง ได้ให้วิตามินซี ขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 5 เม็ด และให้กินแคลเซียม ขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 19 เม็ด เสริมวิตามินบีรวมวันละ 1 เม็ด เพื่อบำรุงปลายประสาท ให้โปรไบโอติกส์วันละ 1 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมอาหาร ลดอาการปวด เสียดท้องจากการท้องอืด
ทั้งนี้ พบแผลตกสะเก็ดแห้ง ๆ บริเวณลำคอ ใต้คอ ใต้อก และหลังใบหู โดยทำการล้างแผลทายาป้องกันการติดเชื้อ และเพิ่มความชุ่มชื้น จนแผลบริเวณดังกล่าวค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ส่วนแผลที่สะดือเป็นแผลสดแต่มีขนาดเล็กลง บาดแผลเกือบสมานหายดี โดยทำการล้างแผลทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีแผลบริเวณเพดานปาก กลางลิ้น และริมฝีปากล่าง จึงได้ล้างปากและพ่นยาทุกวัน ผลคือแผลเริ่มสมานดีขึ้น เช็ดตัวทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่น
ในช่วงเย็นพี่เลี้ยงพาเดินเล่นประมาณ 20 นาที การก้าวเดินยังไม่ค่อยมั่นคงนัก อุณหภูมิร่างกายที่วัดได้อยู่ในช่วง 36-37 องศาเซลเซียส อยู่ในช่วงอุณหภูมิร่างกายปกติ ไม่มีไข้ พี่เลี้ยงจัดให้นอนในคอกดินมีฟางรองเพื่อเพิ่มความอบอุ่นในเวลากลางคืน ยังคงเฝ้าระวังการท้องอืด ท้องผูก และถ่ายเหลว