AROUND THAILAND

ศาลปกครอง สั่งหน่วยงานรัฐ-ขรก.-บ.เอกชน เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงงาน คดีบ่อขยะศรีเทพ

ศาลปกครองนครสวรรค์ นัดฟังคำพิพากษา คดีปกครองที่ ส.1/65 กรณีชาวบ้านหมู่ 4 บ้านม่วงชุม ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ยื่นฟ้องอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ , นายก อบต.คลองกระจัง และ อบต.คลองกระจัง ฐานละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จากบ่อขยะของเอกชนในพื้นที่

ศาลพิพากษาว่า อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ , นายก อบต.คลองกระจัง และ อบต.ครองกระจัง ละเลย ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควร ให้หน่วยงานทั้งหมด และ บริษัท เอกอุทัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการบ่อขยะ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยรายงานการดำเนินการให้ศาลทราบ

สำหรับคดีนี้ ชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านม่วงชุม ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ยื่นฟ้องอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ , นายก อบต.คลองกระจัง และ อบต.คลองกระจัง ฐานละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ชาวบ้านประสบ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 65 ภายหลังจากกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานรัฐ และจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวหลายครั้ง เพื่อให้เกิดการแก้ไขความเดือดร้อน ทั้งปัญหากลิ่นเหม็นและการปนเปื้อนของมลพิษในน้ำบาดาล จากการประกอบกิจการหลุมฝังกลบของเสียของ บริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขาศรีเทพ แต่ปัญหามลพิษในพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

การฟ้องครั้งนี้ ชาวบ้านขอให้ศาลพิพากษาให้หน่วยงานรัฐและข้าราชการทั้ง 4 ปฏิบัติตามหน้าที่และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ชาวบ้านประสบ และขอให้ศาลพิพากษาให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท เอกอุทัย จำกัด และดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ

ศาลปกครองนครสวรรค์ ไม่เพียงรับคดีไว้พิจารณาเท่านั้น แต่ยังได้พิจารณาให้เพิ่ม บริษัท เอกอุทัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยที่ 5 ด้วย ซึ่งการนั่งพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 ตุลาการผู้แถลงคดีได้มีคำวินิจฉัยว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่เกิดจากกิจการของ บริษัท เอกอุทัย จำกัด เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยหน่วยงานรัฐและข้าราชการทั้ง 4 ที่ถูกฟ้องไม่ได้ดำเนินการจัดการให้ระงับสิ้นสุดไป จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควร เห็นควรพิพากษาให้หน่วยงานรัฐและข้าราชการทั้ง 4 ดำเนินการให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกอบกิจการและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากทำไม่ได้ ให้ใช้คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

ภาพ: แฟ้มภาพ

Related Posts

Send this to a friend