AROUND THAILAND

ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีชาวบ้าน 8 จังหวัดริมโขงฟ้อง 5 นง.รัฐ

ศาลปกครองสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นัดนั่งพิจารณาครั้งแรก วานนี้ (3 พ.ค. 65)คดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 และคดีหมายเลขดำ อส.11/2559 กรณีชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงฟ้องการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผู้ถูกฟ้อง 5 หน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตุลาการเจ้าของสำนวน อ่านสรุปข้อเท็จจริงในคดีให้ผู้ฟ้องคดีได้รับฟัง ส่วนวันนัดฟังคำพิพากษา จะส่งหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทราบในภายหลัง โดยศาลได้กำหนดประเด็นในการวินิจฉัย 2 ประเด็นคือ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสมหรือไม่และได้ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจังหรือไม่ และ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่

ศาลให้ผู้ฟ้องคดีแถลงด้วยวาจาประกอบคำแถลงที่เป็นหนังสือ ซึ่งได้มีการยื่นต่อศาลแล้ว โดยนางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ฟ้องคดีที่ 4 ได้แถลงว่า ตนมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดหนองคาย ประกอบอาชีพเป็นแม่ค้า นับแต่ที่เกิดความผิดปกติของน้ำโขง ปี 2556 ก็ไม่ได้ประกอบอาชีพนี้อีกเลย ส่วนนายอำนาจ ผู้ไตรจักร ผู้ฟ้องคดีที่ 11 แถลงว่า ตนมีที่ดินอยู่ริมน้ำโขงซึ่งเป็นที่ของแม่ยายได้รับมามีจำนวน 3 ไร่ ปี 2562 กระแสน้ำผิดปกติขึ้นลงฉับพลัน มีการพังทลายของหน้าดิน ทำให้สูญเสียที่ดินไปเหลือเพียง 1 งานเท่านั้น นี่คือผลกระทบของผู้ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงที่จะได้รับในตอนนี้คือการสูญเสียที่ดินของตน

ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้อง โดยไม่ได้ให้เหตุผล ส่วนคำแถลง ได้ยื่นเป็นหนังสือกับองค์คณะ

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า คดีนี้อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุดนานถึง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2558 ตนในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายยังฝากความหวังกับศาลปกครองสูงสุด เพราะในศาลชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำสั่งรับฟ้องและระบุถึงการทำหน้าที่ของหน่วยง่านรัฐมีผลต่อประชาชน ศาลจึงรับฟ้อง จึงหวังว่าจะสร้างบรรทัดฐานเพื่อคุ้มครองประชาชน เพื่อเป็นบรรทัดฐานของหน่วยงานรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง แม้ว่าวันนี้ตุลาการผู้แถลงคดีใช้คำว่า “เห็นพ้อง” ก็แปลว่า หลักการและเหตุผลอาจแตกต่างจากศาลชั้นต้น

ด้านนางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่าคดีนี้มีความสำคัญระดับภูมิภาค เพราะขณะนี้มีโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงหลายโครงการที่รอลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เช่น โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากแบง ปากลาย สานะคาม ซึ่งหากผลคดีออกมาให้หน่วยงานรัฐไทยคุ้มครองประชาชนชาวไทย คุ้มครองสิทธิการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ ก็จะเป็นบรรทัดฐานในการป้องกันความเสียหายจากผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการอื่นๆ บนแม่น้ำโขงได้ เพราะสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่สุดที่การันตีว่าจะได้สร้างหรือไม่ได้สร้างโครงการเขื่อน

สำหรับคดีเขื่อนไซยะบุรี เริ่มขึ้นเมื่อปี 2554 ประชาชนในเขต 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้ทราบข่าวการสร้างเขื่อนกำลังผลิตติดตั้ง 1,270 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำโขงสายหลัก โดย บริษัท ช.การช่าง ที่มีธนาคาร 6 แห่งในประเทศไทยสนับสนุนเงินทุน มี กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าหลัก 95% และมีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย เป็นผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง

ประชาชนในประเทศไทย แสดงความกังวลต่อปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนที่อยู่ห่างจากเขื่อนเพียง 200 กิโลเมตร โดยไม่มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ต่อมามีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์และกฟผ. ในปี 2554 และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ชาวบ้านในพื้นที่ 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงในไทย จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะฟ้องต่อศาลปกครอง ขอคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่จะอาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว แม้เขื่อนจะอยู่ในเขตอธิปไตยของสปป.ลาว แต่แม่น้ำโขงคือแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ

วันที่ 24 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 8/2557 ให้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาบางส่วน โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในข้อหาที่สาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม ทั้งในฝ่ายไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนจะดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ยังระบุว่า เนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหาย ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ได้รับจำต้องมีคำบังคับ โดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและมติของรัฐบาล และแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ตามมาตรา 72 วรรค 1(2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างในแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น PNPCA เนื่องจากเป็นกติกาที่ใช้ในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน เป็นโครงการกั้นแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องโดยใช้สิทธิชุมชนในการฟ้องคดี เป็นการใช้สิทธิเพื่อคุ้มครองไม่ให้ตนได้รับผลกระทบ จึงใช้สิทธิในการฟ้องได้ ศาลจึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 37 คน เฉพาะข้อหาที่ 3 ในส่วนที่ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Related Posts

Send this to a friend