AROUND THAILAND

ชายแดนพบพระยังเดือด กองทัพพม่าทิ้งระเบิดหมู่บ้านกะเหรี่ยงตาย-เจ็บอื้อ

ชายแดนพบพระ ยังเดือด กองทัพพม่าทิ้งระเบิดหมู่บ้านกะเหรี่ยงตาย-เจ็บอื้อ คนไทยถูกลูกหลงเจ็บ 2 หลังข้ามฝั่งเยี่ยมญาติชาวบ้านอพยพหลบภัยฝั่งไทยต่อเนื่อง นักวิชาการแนะทางออก เสนอกองทัพไทยเจรจาสร้างเขตห้ามบินชายแดนในพื้นที่ต่อสู้เข้มข้น

วันนี้ (2 ก.ค. 65) สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)เป็นแกนนำบริเวณชายแดนตรงข้ามอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ยังคงดำเนินไปยังดุเดือด หลังจากเมื่อคืนวันที่ 1 กรกฎาคม ทหารพม่าได้ใช้เครื่องบินรบ MiG-29 โจมตีฐานทหารกะเหรี่ยงและพันธมิตร แต่ระเบิดได้ไปลงที่ชุมชนบ้านเส่บอโบซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านหมื่นฤาชัย ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยล่าสุดตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นมาได้มีเสียงระเบิดอย่างต่อเนื่องบริเวณหมู่บ้านซงซีเมียนฝั่งกะเหรี่ยงซึ่งเยื้องกับหมู่บ้านหมื่นฤาชัย และมีชาวบ้านจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยงทยอยอพยพข้ามมายังฝั่งไทยเพื่อหาพื้นที่ปลอดภัย

นายเสริมศักดิ์ ก่อจิตไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมื่นฤาชัย อ.พบพระ จ.ตาก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทหารพม่าใช้เครื่องบินรบถล่มหมู่บ้านเส่บอโบในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านหมื่นฤาชัยโดยมีแม่น้ำเมยคั่นกลางเมื่อคืนวันที่ 1 กรกฎาคมว่า การทิ้งระเบิดดังกล่าวทำให้มีสะเก็ดระเบิดข้ามมายังหมู่บ้านและทำให้มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 3 หลังโดยหลังคาทะลุ ซึ่งขณะที่ทางการได้เข้ามาช่วยซ่อมแซมบ้านให้แล้ว ขณะเดียวกันเหตุการณ์ดังกล่าวมีคนไทยที่ข้ามไปบ้านญาติในฝั่งนู้นได้รับบาดเจ็บ 2 คนโดยคนหนึ่งมีบัตรประชาชนไทย และอีกคนหนึ่งเป็นบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งขณะนี้ทั้งสองคนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลพบพระ

ผู้ใหญ่บ้านหมื่นฤาชัยกล่าวว่า ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ได้มีเสียงระเบิดในพื้นที่ฝั่งตรงกันข้ามเกิดขึ้นอีก ทำให้ชาวบ้านรู้สึกกังวลในความปลอดภัย แม้ขณะนี้จะมีทหารและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านคอยลาดตระเวนอยู่ แต่เนื่องจากมีชาวบ้านฝั่งกะเหรี่ยงได้รับบาดเจ็บข้ามมารักษาฝั่งไทย นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านจากฝั่งนู้นทยอยเดินทางข้ามแม่น้ำเมยมาซึ่งรวมแล้วราว 200 คน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจ

ด้าน ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ในโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าภูมิประเทศและรูปเขตแดนบริเวณชายแดนด้านอำเภอพบพระมีลักษณะเฉพาะ และมีฐานของฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าตั้งอยู่มานาน ดังนั้นเมื่อกองทัพพม่าเสียหายหนักเขาจึงต้องเอาแสนยานุภาพที่เหนือกว่าเข้าไปจัดการโดยต้องอ้อมมาด้านหลัง ทำให้เครื่องบินรบล้ำแดนเข้ามาในเขตไทย ซึ่งจะเกินไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานด้านความมั่นคงที่จะให้ความมั่นใจชาวบ้านอย่างไร

แต่ปัจจุบันมีกลไกระดับกองทัพต่อกองทัพอยู่แล้ว ถ้าใช้กลไกนี้เจรจาความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงชายแดน ไม่ให้เครื่องบินรบล้ำแดนเข้ามาอีกก็น่าจะทำให้ความร้าวฉานไม่บานปลายออกไป เพราะหากไม่มีการละเมิดอธิปไตยฝั่งไทยอีกก็คงพอรับได้

ผศ.ดุลยภาพกล่าวว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เครื่องบินรบพม่าล้ำเข้ามาแดนไทย ทำให้สังคมไทยเกิดความเห็นในมุมต่างๆ ขึ้นอยู่กับมโนทัศน์ของแต่ละกลุ่ม โดยในกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าทำถูกแล้วคือรักษาความสัมพันธ์ไม่ให้บานปลายเพราะมิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดสงครามและประชาวบ้านบริเวณชายแดนโดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มเปราะบางจะเดือดร้อน แต่อีกกลุ่มคนที่ไม่ชอบทหารไทยพราะเห็นว่าทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเยอะก็พูดในทำนองว่ากองทัพไม่มีน้ำยา บางกลุ่มเริ่มมองว่าจะเป็นการเปิดทางไปสู่การสั่งซื้ออาวุธหรือไม่

“ผมคิดว่าควรมีการถอดบทเรียนเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เพราะสถานการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วบริเวณชายแดนพม่า-จีน ซึ่งจีนได้ใช้กลไกของกองทัพสื่อสารกับกองทัพพม่าจนเกิดความเข้าใจ ขณะเดียวกันก็ใช้เครื่องบินรบบินตรวจตราจนทหารพม่าไม่กล้าทำแบบเดิมอีก เรามีบทเรียนอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เราใช้เครื่องบินเอฟ-16 คอยเฝ้าระวังและเปิดช่องทางสื่อสารกับเขาจึงเป็นทางออกที่ดี การที่กองทัพพม่ารบอยู่กับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนเป็นปัญหาที่เรากลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่การอยู่เฉยๆก็จะขัดกับหลายประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่เงื่อนไขของเรากับประเทศเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมและไม่ประมาท พร้อมตอบโต้ไปตามสถานการณ์” ผศ.ดุลยภาพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่ทหารไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้ที่หนีภัยการสู้รบเพราะมีการผลักดันกลับอย่างรวดเร็วทั้งๆที่เหตุการณ์ยังมีการสุ้รบ ผศ.ดุลยภาพกล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างระเบียงมนุษยธรรม เมื่อมีชาวบ้านหนีภัยการสู้รบเข้ามาก็ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งมีกลไกต่างในระบบราชการจัดการอยู่แล้ว แต่ที่น่าคิดคือทหารพม่ามักสงสัยว่ามีฝ่ายต่อต้านเข้ามาฝึกซ้อมหรือหลบหนีเข้ามาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทางภูมิศาสตร์ ถ้าเราใช้หลักถ้อยทีถ้อยอาศัยก็ไม่มีปัญหา

“เขาเดือดร้อนมาเราก็ควรรับมาดูแลตามมนุษยธรรมพื้นฐาน แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นคือควรกำหนดเขตห้ามบินให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการสู้รบในบางจุดที่มีการต่อสู้เข้มข้น เพื่อทำให้เป็นเขตสันติภาพบางพื้นที่ เราควรสนับสนุนการเจรจาสันติภาพในจุดสำคัญ” อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ กล่าว

เมื่อถามว่าทำไมถึงเสนอเขตห้ามบินแค่บางจุดแต่ไม่เสนอตลอดแนวชายแดน ผศ.ดุลยภาพกล่าวว่าการกำหนดเขตห้ามบินต้องได้รับความร่วมมือจากกกองทัพพม่าด้วย ขึ้นอยู่ว่าจะไปหารือกันอย่างไร แต่มุมของตนเห็นว่าจุดไหนที่สู้รบเข้มข้นก็ควรเจรจาในจุดนั้นไปก่อน ซึ่งจะมีแนวโน้มสำเร็จมากกว่าเสนอตลอดแนว เช่น พื้นที่ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ตรงข้าม อ.แม่สอด-พบพระ จ.ตาก พื้นที่ ชายแดนด้านเชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนี้กองทัพรัฐฉานใต้และกองทัพว้ากำลังเผชิญหน้ากันอยู่

“การกำหนดเขตห้ามบินได้ หน่วยงานต่างๆต้องทำงานกันอย่างบูรณาการ ทั้งกองทัพ สภาความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)โดยมีกองทัพเป็นตัวขับเคลื่อน” ผศ.ดุลยภาพ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend