POLITICS

พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ไม่ส่งตัวแทนร่วมลงนามจรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้ง

วันนี้ (29 มี.ค.66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เฉพาะในส่วนของจรรยาบรรณฯ) ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และภาคีเครือข่าย จัดพิธีลงนามจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 และพิธีลงนามสัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ.2566 โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองร่วมลงจรรยาบรรณทั้งหมด 31 พรรค ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งนี้ใจความสำคัญของจรรยาบรรณที่ผู้แทนจากพรรคการเมืองร่วมกันอ่าน มีจำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.เคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2.ไม่กระทำการใด ๆ ที่ทุจริตต่อการเลือกตั้ง และที่เป็นการซื้อเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งไม่ใช้ทรัพยากรรัฐ เพื่อประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียง หรือให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง

3.รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างสร้างสรรค์ สันติวิธี คำนึงถึงความละเอียดอ่อนและความหลากหลายทางเพศภาวะ ไม่ข่มขู่ คุกคาม หรือสร้างความหวาดกลัว

4.ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการกระทำที่ปลุกเร้าความเกลียดชัง และความรุนแรง หรือใส่ร้ายด้วยความเท็จให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะการข่มขู่ การกระทำที่หยาบคาย การใช้ข่าวปลอม การลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ และการเผยแพร่ข้อมูลด้วยกลวิธีหลอกลวง

5.ธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมืองที่สำคัญ โดยนำเสนอนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชน

ส่วนสัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ มี 8 ข้อ

1.จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลต่อเมื่อ มีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลโดยนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการอย่างจริงจัง

3.จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำ สสร.

4.สนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพในชายแดนใต้ เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ

5.ดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน มีอำนาจในการตัดสินใจพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ไปสู่ส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

6.ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน มีนโยบายดูแลผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม เข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างครอบคลุม

7.กำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมือง ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ในการรับสมัครเลือกตั้ง

8.สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศให้ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง

นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ให้ความเห็นกรณีที่พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้เข้าร่วมการลงนามครั้งนี้ โดยมองว่าทั้ง 2 พรรคคงไม่ได้ด้อยค่า แต่เป็นส่วนน้อยที่อาจจะไม่อยากให้คำมั่นสัญญากับประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องตัดสินใจ

Related Posts

Send this to a friend