FEATURE

รู้จักข้าวหอมมะลิ 105 ทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้า GI ของวิสาหกิจชุมชนจังหวัดมหาสารคาม

The Reporters พาทำความรู้จักข้าวหอมมะลิ 105 ทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้า GI ของวิสาหกิจชุมชน ศูนย์ผลิตข้าวพันธุ์บ้านสระแคน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ดินแดนที่เคยขึ้นชื่อว่า “แห้งแล้งที่สุด”

นายเจนณรงค์ ศรีอินทร์ พาณิชย์จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จังหวัดมหาสารคามเป็นพื้นที่เกษตรปลูกข้าว 80% รายได้จากการจำหน่ายข้าวจึงถือเป็นรายได้หลักของจังหวัด โดยพาณิชย์จังหวัดมหาสารคาม ได้ยื่นขอจดทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นสินค้า GI ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2560 เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น โดยข้าวหอมมะลิของจังหวัดมหาสารคาม ส่วนใหญ่ปลูกอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จำนวน 200,000 กว่าไร่ ซึ่งพาณิชย์จังหวัดมาหาสารคาม ได้จัดส่งข้าวหอมมะลิ GI ไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำด้วย

ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามมีสินค้า GI อยู่ 2 อย่าง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ทุ่งกุลาร้องไห้ และมันแก้วบรบือ เตรียมที่จะขึ้นทะเบียนอีก 2 อย่าง ได้แก่ แตงโมพยัคฆภูมิ และเนื้อโคขุนตักสิลา สำหรับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสินค้า GI จะคำนึงถึงความคุ้มค่าของรายได้ และผู้ที่จะขอขึ้นทะเบียนสินค้า GI ต้องเป็นไปตามประกาศของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

นางเกศินี พวงประดิษฐ์ พาณิชย์จังหวัดสกลนคร ในฐานะสำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ดำเนินแผนงานประชาสัมพันธ์สินค้า GI อีสานสู่สากล กล่าวว่า สินค้า GI ที่โดดเด่นในภาคอีสานมี 18 ชนิด เป็นสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป สินค้าปศุสัตว์ ผ้าทอมือ และผลไม้ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จ.มหาสารคาม ทุเรียนภูเขาไฟ และผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง จ.ศรีษะเกษ กระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายประชาสัมพันธ์สินค้า GI ให้ประชาชนเห็นคุณค่า โดยเร็ว ๆ นี้จะเชิญผู้แทนจากประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ร่วมชมสินค้า GI ของไทย ทั้งยังจะประชุมทางไกลร่วมกับทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำการในต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางจับคู่ธุรกิจให้เกษตรกรไทย (Business Matching)

นายสิริชัย ปราบมาตย์ หัวหน้ากลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสระแคน กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ผลิตข้าวพันธุ์บ้านสระแคน ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 และได้รับการสนับสนุนพันธุ์ข้าวจากศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ปัจจุบันจำหน่ายข้าวในชื่อแบรนด์ “ข้าวสระแคนบุญตา” น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ราคา 59 บาทกุลาร้องไห้ จุดเด่นคือ ข้าวมีความหอมมากกว่าข้าวหอมจากที่อื่น เพราะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีสภาพเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ พื้นที่มีดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ส่งผลให้ข้าวเกิดความเครียดและหลั่งสารหอมออกมา

นายสิริชัย ระบุว่า สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนคือ เครื่องแพ็คข้าวสุญญากาศ และการใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้า

เรื่อง: ณัฐพร สร้อยจำปา
ภาพ: พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend