POLITICS

รำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม อานันท์ ปันยารชุน ร่วมเปิดอนุสรณ์วีรชนพฤษภา

รำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม “อานันท์ ปันยารชุน” ร่วมเปิดอนุสรณ์วีรชนพฤษภา 35 เตือนใจคนรุ่นหลัง แนะ คนไทยต้องปรองดอง นำมาพาประเทศสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

วันนี้ (17 พ.ค.65) เวลา 09.09 น. คณะกรรมการพฤษภาประชาธรรม จัดพิธีรำลึก 30 ปี สดุดีเหตุการณ์วีรชนพฤษภาประชาธรรม ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษประชาธรรม ถนนราชดำเนิน โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธี และมี ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวรายงาน

ดร.โคทม กล่าวรายงานถึงที่มาการจัดงานรำลึกว่า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2536 ให้สร้างอนุสรณ์สถานวีรชนคนพฤษภา ในพื้นที่้นที่ของกรมธนารักษ์ โดยภายในอนุสรณ์สถานจะบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิต และจารึกชื่อผู้เสียชีวิตไว้ด้วย นอกจากนี้ยังจะปลูกต้นไม้มงคล 17 ต้น ประกอบด้วย ต้นหางนกยูง สีแดงสะท้อนถึงเลือดเนื้อของวีรชน และต้นคูน สีเหลือง แทนความสว่างไสวของประชาธิปไตย

ทั้งนี้ระหว่างจัดงาน กลุ่มประชาชนคัดค้านการเข้าร่วม เพราะเห็นว่าได้เชิญผู้ต่อต้านประชาธิปไตยในอดีตมาร่วม แต่ผู้จัดประสงค์ที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของวีรชน เพราะงานที่เราจัดได้เชิญทั้งฝ่ายรัฐบาล กองทัพบก นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมทุกครั้ง”

นายชวน กล่าวเปิดงานไว้ว่า 30 ปี เปลี่ยนแปลงไปมาก มีทั้งดีและร้าย เกิดการสะดุดด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิด เราได้ข้อสรุปว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา แม้มีรัฐธรรมนูญที่ดี อย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่รัฐบาลก็ถูกยึดอำนาจ เพราะเป็นปัญหาพฤติกรรมบุคคล ดังนั้นหลักที่ดี คนที่ดี และกฎหมายที่ดีต้องไปด้วยกัน แม้รัฐบาลจะมาจากประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่ยึดแนวประชาธิปไตยจะติดเงื่อนไข เช่นเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ มาจากการไม่ยึดหลักนิติธรรมตามหลักกฎหมาย ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องเพิ่มวรรคสอง มาตรา 3 ระบุว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

ขอฝากถึงญาติวีรชน การสูญเสียไม่ได้สูญเปล่า ขออย่าหวั่นไหว อย่าท้อ ขอให้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราเลือกเดินทางนี้มากว่า 90 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนแล้วว่า ภยันตรายที่ทำร้ายประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากคน ไม่ใช่ตัวหนังสือ

ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภา 35 ว่า พฤษภาคมเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ตนเองจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้ดี ไม่มีวันลืม แต่ถึงอย่างไรชีวิตเราต้องดำเนินต่อไป แม้ความขมขื่นจะยังเหลืออยู่ แม้จะไม่ได้มีการค้นหาความจริง แต่หลักทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า “อย่าเอาความเคียดแค้น ความเสียใจ ความผิดหวังมาเป็นเครื่องกีดขวางในอนาคต”

อนุสรณ์สถานนี้ จะปลุกให้คนระลึกถึงว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดอีก อนุสรณ์ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเกลียดแค้น หรือเจ็บใจ แต่เป็นอนุสรณ์แห่งบทเรียนของคนรุ่นใหม่ได้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งมีการต่อสู่เพื่อประชาธรรม เรียกร้องหาสิทธิเสรีภาพ และอยุติธรรมในสังคม

ประเทศไทยมีบทเรียนตลอด แต่เราไม่เคยจำ ประเทศต้องกลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งต่อไป เพราะเราไม่อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ทำให้ความขัดแย้งลุกลามในจิตใจประชาชนอย่างรุนแรง คนไทยต้องสร้างความปรองดอง สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อนำประเทศชาติไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

“แม้ผมจะไม่ใช่ผู้สูญเสีย แต่มันทำให้ผมต้องรักคนไทย รักประเทศไทยมากขึ้น ขออธิษฐานถึงวิญญาณผู้สิ้นชีวิต ไม่ว่าจะใคร เพศใด ศาสนาใด ขอให้วิญญาณ และสิ่งศักดิ์ ดลบันดาลให้คนไทยตื่นจากความมืดมัว ต่อสู้สร้างอนาคตใหม่ที่เป็นธรรม และไม่เป็นภัย”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในงานมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมพิธีวางมาลาด้วน อาทิ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวสันต์ บุญหมื่นไวย์ ผู้อำนวยการเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

Related Posts

Send this to a friend