WORLD

ทูตอิสราเอล ชี้ การปิดล้อมฉนวนกาซาเป็นวิธีที่ชอบธรรม เพื่อตัดกำลังศัตรู

ทูตอิสราเอล วอนรับข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ เผย กาซามีแหล่งพลังงาน-ทรัพยากรเพียงพอ ชี้การปิดล้อมฉนวนกาซาเป็นวิธีที่ชอบธรรม เพื่อตัดกำลังศัตรู ย้ำอิสราเอลมุ่งลดผลกระทบต่อพลเรือน

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย รายงานสถานการณ์บริเวณฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 16:00 น. เป็นภาษาอังกฤษ โดยระบุว่า

“เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้ว ตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสเริ่มต้นขึ้น ตามมาด้วยการโจมตีก่อการร้ายของกลุ่มฮามาสในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ในการโจมตีครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย ผู้บาดเจ็บอีก 5,500 ราย และมีผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนอีกมากกว่า 240 คน ถูกลักพาตัวไปยังกาซา เพื่อใช้เป็นตัวประกันและเกราะกำบังมนุษย์ ความโหดร้ายและทารุณจากการโจมตีทำให้อิสราเอลไม่มีทางเลือก นอกจากประกาศสงครามกับฮามาส จุดมุ่งหมายของสงครามนี้ชัดเจน คือ การทำลายองค์กรฮามาส และศักยภาพทางทหารของฮามาสทั้งหมด ตลอดจนล้มล้างระบอบฮามาสในฉนวนกาซาด้วย

กองทัพอากาศอิสราเอลดำเนินการโจมตีทางอากาศอย่างแม่นยำมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ รวมถึงกองกำลังภาคพื้นดินก็เข้าไปยังกาซาแล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อิสราเอลมุ่งลดภยันตรายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ แต่ฮามาสกลับยังใช้พลเรือนในกาซาเป็นเกราะกำบังมนุษย์ต่อไป สำหรับภาพรายละเอียดของสำนักงานใหญ่ฮามาสที่ตั้งอยู่ใต้โรงพยาบาลนั้น รับชมได้ที่ลิงก์นี้ https://idfanc.activetrail.biz/ANC27102023840231

สำหรับประเด็นผู้ถูกฮามาสจับกุมเป็นตัวประกันนั้น อิสราเอลกำลังต่อสู้กับองค์กรที่เป็นสัตว์ด้วยอุดมการณ์แบบไอซิส ฮามาสกระทำการอย่างโหดเหี้ยม ทั้งการทรมานและเข่นฆ่าทารก เด็ก และพลเรือนในอิสราเอลที่ไม่อาจป้องกันตนเองได้ ฮามาสยังก่ออาชญากรรมต่อไปด้วยการควบคุมตัวประกันไว้มากกว่า 240 คน ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และผู้ชาย มากไปกว่านั้น ฮามาสละเมิดพันธกรณีทางมนุษยธรรมต่อตัวประกัน ชาวอิสราเอล ชาวไทย และบุคคลอีกหลายสัญชาติ นับจนถึงวันนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของตัวประกัน ไม่มีช่องทางติดต่อ หรือรายงานการพบปะกับเจ้าหน้าที่ทางการของหน่วยงานกาชาดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังคงยึดมั่นตามพันธกรณีต่อพลเรือนในกาซาอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติเช่นว่านั้นด้วย

ทั้งนี้ แม้มีความกังขามากเกิดขึ้นกับพันธกรณีของอิสราเอลต่อพลเรือนในกาซา แต่ต้องชี้แจงสิ่งสำคัญประการหนึ่งว่า ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อิสราเอลไม่ถือว่ามีอำนาจปกครองเหนือกาซาแล้ว ตั้งแต่การแยกตัวเมื่อปี 2005 ดังนั้น อิสราเอล ไม่มีสภาพบังคับใด ๆ ตามกฎหมาย ในการออกตัวจัดสรรสิ่งต่าง ๆ ตามความจำเป็นของประชากรในกาซาแต่อย่างใด ฮามาสมีอำนาจควบคุมเหนือดินแดนนั้นโดยสมบูรณ์ตามที่ปรากฏ

นอกจากนี้ การปิดล้อมนั้นเป็นเครื่องมือที่ชอบธรรมในการทำสงคราม เพื่อตัดกำลังของศัตรู ไม่ให้มีการสนับสนุนกำลังเพิ่ม หรือมีการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นได้ อย่างไรก็ตาม แม้อิสราเอลจะไม่มีพันธกรณีในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อพลเรือนในกาซา แต่อิสราเอลยังอนุญาตให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ขนส่งสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เช่นอาหาร น้ำ และยา ผ่านเข้าไปได้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นไปได้ที่จะเรียกร้องให้มีการสอบสวนและกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าความช่วยเหลือเหล่านั้นจะไปถึงยังพลเรือนโดยตรง และไม่ตกไปถึงกองกำลังฮามาสหรือองค์กรก่อการร้ายอื่น ๆ

ในทางปฏิบัติ การขนส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้เข้าสู่กาซาผ่านจุดผ่านแดนราฟาห์ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ฮามาสได้ยึดเอาบรรดาความช่วยเหลือที่มุ่งส่งตรงไปยังพลเรือน มาจัดสรรตามความต้องการของทหารแทนอย่างที่ปฏิบัติตามปกติ ตัวอย่างล่าสุดคือ ทวีตขององค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (The United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East: UNRWA) ที่ระบุว่า ฮามาสยึดเอาเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปจากหน่วยขององค์กร ซึ่งเดิมตั้งใจจะให้ไปถึงโรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกของพลเรือน https://x.com/IDF/status/1713927599028576530?s=20

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ยังรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในกาซาว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา มีรถบรรทุก 108 คัน บรรทุกน้ำ อาหาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เข้าสู่ฉนวนกาซาแล้ว

ฮามาสถือครองแหล่งเชื้อเพลิงสำรอง และยังเดินหน้าที่จะควบคุมแหล่งเขื้อเพลิงสำรองของเอกชนด้วย จากข้อมูลของกองทัพอิสราเอล ระบุว่า ฮามาสมีคลังน้ำมันที่มีความจุประมาณ 1 ล้านลิตร ทั้งยัง ควบคุมการส่งเชื้อเพลิงไปยังโรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกสำคัญอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ของฮามาสเอง ฮามาสเพิ่มแรงกดดันในการสื่อสารระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะว่า มีความขาดแคลนเชื้อเพลิงภายในฉนวนกาซา ทั้งที่เมื่อฮามาสมีอำนาจควบคุมเชื้อเพลิงแล้ว น้ำประปา น้ำเสีย และระบบโรงพยาบาลล้วนได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งสิ้น

เรื่องอาหาร ไม่มีสภาวะที่ใกล้เคียงกับคำว่าขาดแคลนอาหารเลย แหล่งเสบียงในฉนวนกาซายังเหลือเพียงพอได้อีกอย่างน้อย 1 เดือน กระบวนการอบขนมปังต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการควบคุมเชื้อเพลิงของฮามาสเอง

เรื่องน้ำ น้ำประปาในฉนวนกาซายังมีสถานะคงที่ ท่อส่งน้ำเบอร์เก็ตซายิดซึ่งเสียหายจากลูกปืนครกของฮามาสนั้น ก็ได้รับการซ่อมแซมแล้ว และส่งน้ำไปถึงครัวเรือนในภาคกลางของฉนวนกาซา สำหรับทางตอนเหนือเหนือของฉนวนกาซา เทศบาลต่าง ๆ ยังจ่ายน้ำจากถังพักน้ำ ขณะที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ก็ยังมีน้ำที่ส่งผ่านท่อส่งน้ำบานีซูฮีลาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องสุขภาพอนามัย ฮามาสเริ่มกลับมาลำเลียงเชื้อเพลิงดีเซลให้กับโรงพยาบาลทางตอนเหนือของฉนวนกาซาอีกครั้งในรอบ 48 ชั่วโมง แม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะได้รับจัดสรรเชื้อเพลิงมาเมื่อใด และเท่าใด ทุกโรงพยาบาลต่างมีแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการทางด้านพลังงานในโรงพยาบาลในทวีปยุโรปได้รับการจัดสรรโดยพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 70% แม้ปัจจุบันโรงพยาบาลจะเต็มอัตรามาก แต่ยังคงให้บริการต่อไปได้ อุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นค่อนข้างเพียงพอ ทั้งจากฮามาสและองค์การระหว่างประเทศ”

“อิสราเอลกำลังฝ่าฟันผ่านสถานการณ์ที่ท้าทาย พวกเราตกอยู่ในสภาวะสงคราม กับองค์กรก่อการร้ายที่เลวร้ายที่สุดในประเภทเดียวกัน เป้าประสงค์หลักของอิสราเอลคือ การกำจัดฮามาส พร้อมกับรับประกันความปลอดภัยของพลเรือนทุกคน ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกลับใช้พลเรือนของเขาเอง เป็นเกราะกำบังมนุษย์เพื่อสนับสนุนเรื่องราวของเขาเองด้วย ดิฉันวิงวอนให้สำนักข่าวต่าง ๆ และสาธารณชน โปรดประมวลข้อมูลที่มีการนำเสนอออกมาตอนนี้อย่างมีวิจารณญาณ การกล่าวหาแต่ละครั้งพุ่งเป้ามาแค่อิสราเอลอย่างเดียวสำหรับความสูญเสียของพลเรือนในกาซา โดยไม่คำนึงถึงชั้นเชิงของฮามาส ซึ่งนั่นกลับสนับสนุนเรื่องราวของเขา และสนับสนุนให้ฮามาสใช้ชั้นเชิงเช่นนี้ต่อไป” นางสาวออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย กล่าว

แปลและเรียบเรียง: ณัฐนนท์ เจริญชัย

Related Posts

Send this to a friend