POLITICS

ก้าวไกล-เป็นธรรม จับมือเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย

ก้าวไกล-เป็นธรรม จับมือเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ขอไทยยอมรับสถานะ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย คาดหวัง ‘เศรษฐา-รมว.ต่างประเทศ’ ผลักดันผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ

วันนี้ (31 ส.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา นายมานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัน สส.กทม.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายกัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และตัวแทน สส.ก้าวไกล แถลงข่าวการขอยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในประเทศไทยและผู้หนีภัยจากการสู้รบแนวชายแดนไทยพม่า

นายมานพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทยมากกว่า 70,000 -90,000 คน กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 และคงอยู่ในสถานะที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ เพราะประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย สถานะของผู้ลี้ภัยจึงใช้คำว่าผู้พักพิงชั่วคราว

“ในระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ชีวิตความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน ในสถานะที่เป็นผู้ลี้ภัย อยู่อย่างยากลำบาก ซึ่ง ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ได้” นายมานพ กล่าว

นายมานพ กล่าวต่อว่า ในบทบาทสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อที่จะสามารถดึงบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการระหว่างประเทศ เรื่องความมั่นคง และเรื่อง อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นคณะกรรมการวิสามัญได้ เพื่อพิจารณาว่าจะแก้ไขปัญหาคนเหล่านี้ในระดับภายในประเทศอย่างไร จะร่วมมือกับนานาประเทศได้อย่างไร รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต้นทาง จะร่วมมือกันอย่างไร

นายกัณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังนิยามว่าประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย 0 คน แต่ความจริงผู้หนีภัยอยู่ในไทยมากกว่า 91,000 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในแนวชายแดน มานานกว่า 43 ปีแล้ว เรายังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ความจำเป็นที่ต้องมีกรรมาธิการ เพื่อใช้กรอบของกฎหมายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการออกแบบกฎหมายนำไปสู่การแก้ปัญหา ยุติสูญญากาศทางกฎหมาย

นายกัณวีร์ เผยว่า ประเทศไทยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกลไกในการพิจารณาสถานะผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่มาตุภูมิได้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า เป็นเพียงกลไกหนึ่งที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพได้ จึงต้องแก้ไขด้วยกฎหมาย

“พี่น้องที่อยู่บริเวณชายแดน 91,000 กว่าคน นาน 43 ปี ยังไม่ทราบเลยว่าเขาจะอยู่อย่างไร เกิด แก่ เจ็บ และตายอยู่ในศูนย์พักพิงโดยไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังไม่นับถึงชาวอุยกูร์ที่ถูกขังลืมในห้องกัก ตม.นานถึง 9 ปี เป็นจำนวนเกือบ 50 คน หรือชาวโรฮิงญาที่หนีภัยประหัตรประหารมาเป็นคนไร้สัญชาติ จึงต้องมองเห็นแก่นของปัญหาคือการลี้ภัย หนีภัยประหัตประหาร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วนโดยใช้กรอบกฎหมาย” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ ยังระบุว่า รัฐไทยต้องไม่มองผู้ลี้ภัยเป็นภาระในการดูแล ไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่ต้องผลักดันให้เขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ให้เขาทำงาน จ่ายภาษีให้ประเทศไทย เป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคน

“หากเราไม่มองมนุษย์เป็นมนุษย์แล้ว ประเทศไทยจะมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศยากจริงๆ ในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจำเป็นต้องมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่าผ่าเผย ต้องเป็นผู้นำ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ ยังกล่าวว่า ตนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เป็นกรรมการอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับผู้ลี้ภัยและแสวงหาทางออก คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ลี้ภัย

นายมานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจะประสานภาคประชาชน ภาควิชาการที่มีประสบการณ์เรื่องนี้อย่างยาวนาน และจะดำเนินการในลักษณะเป็นคณะทำงาน ดำเนินการทำงานคู่ขนานไปก่อน เพื่อความรวดเร็ว ทั้งนี้หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรองชัดเจนแล้ว คณะทำงานจะเข้าไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะไม่รอว่าการตั้งกรรมาธิการจะสำเร็จเมื่อใด เพราะเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ไม่ควรละเลยในประเด็นนี้

Related Posts

Send this to a friend