POLITICS

ครม.เห็นชอบ โอนสนามบิน “กระบี่-อุดรฯ-บุรีรัมย์” ให้ ทอท. บริหาร ตามแนวคิด Cluster

วันนี้ (30 ส.ค. 65) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี , ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานกระบี่ ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยให้รับความเห็นของ หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการให้เรียบร้อย แล้วรายงาน ครม.เพื่อทราบอีกครั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีความเห็นในแนวทางตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ไป ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เปรียบเทียบกรณีกรมท่าอากาศยาน ดำเนินการ กับกรณี ทอท. ดำเนินการ รวมถึงคาดการณ์ประมาณการผู้โดยสาร แผนการลงทุน แผนพัฒนาท่าอากาศยาน ประมาณการรรายได้ รายจ่าย ผลตอบแทนทางการเงิน ผลกระทบต่อกรมท่าอากาศยาน และแผนบริหารความเสี่ยงกรณีที่การดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 2-3 เดือน

ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานของรัฐ จะเข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยท่าอากาศยานอุดรธานี จะมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานหลักที่ทำหน้าที่เป็น Gateway ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ซึ่ง ทอท. มีแนวทางการพัฒนาให้ท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นท่าอากาศยานระดับภาค และท่าอากาศยานศูนย์กลางรองในอนาคต สามารถพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงร่วมกับท่าอากาศยานบุรีรัมย์ที่ทำหน้าที่เป็นท่าอากาศยานรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จากปัจจัยด้านทำเลที่ตั้ง ความพร้อมทางกายภาพและห้วงอากาศ รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐด้านการท่องเที่ยวและกีฬา และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง

ส่วนท่าอากาศยานกระบี่ จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของจังหวัดฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย กระบี่จึงสามารถตอบสนองนโยบายด้านการท่องเที่ยวได้ และท่าอากาศยานกระบี่ก็ยังสามารถเป็นท่าอากาศยานที่ช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ต ที่มีข้อจำกัดด้านการขยายขีดความสามารถในการรอบรับปริมาณการจราจรทางอากาศทั้งภาคพื้นและภาคอากาศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ ท่าอากาศยานกระบี่ยังสามารถรองรับความต้องการเดินทางในรูปแบบอากาศยานส่วนตัวที่มีมากขึ้นในได้ด้วยอนาคต

สำหรับกำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ) แยกเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท , ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท , ท่าอากาศยานกระบี่ กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574 วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 5,216 ล้านบาท และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท

Related Posts

Send this to a friend