POLITICS

สมาพันธ์แพทย์ฯ ร้องขอแพทย์มีเวลาพักบ้าง ‘พิธา’ ชี้ต้องเร่งแก้แพทย์ขาดแคลน

สมาพันธ์แพทย์ฯ ยื่นขอให้แพทย์มีเวลานอนพักอย่างน้อย 8 ชม.หลังออกเวรดึก ‘พิธา’ รับลูก ชี้ต้องเร่งแก้แพทย์ขาดแคลน-ปรับสาธารณสุขทั้งระบบ

วันนี้ (30 มิ.ย. 65) ที่ อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน และคณะ รับยื่นหนังสือจาก พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และคณะ เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรแพทย์ที่ทำงานกับรัฐบาลจำนวนมากต้องอยู่เวรนอกเวลาและดูแลผู้ป่วยนอกเวลาราชการ ซึ่งเมื่อรวมแล้วมีจำนวนชั่วโมงสูงกว่ามาตรฐานในกฎหมายแรงงานทั่วไป โดยอ้างอิงจากการสำรวจในปี 2562 เรื่อง “ภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบต่อผู้ป่วย” โดย รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ที่มีแพทย์ร่วมตอบแบบสอบถามมากถึง 1,105 คน พบว่า แพทย์กว่าร้อยละ 60 ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์กว่าร้อยละ 30 ทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแพทย์หลายคนต้องทำงานดูแลผู้ป่วยติดต่อกันนานกว่า 40 ชั่วโมง โดยไม่มีเวลาพักผ่อน

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤต รามถึงส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของแพทย์โดยตรง หลายคนลาออกเนื่องจากไม่สามารถฝืนทำงานภายใต้แรงกดดันด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแรงได้ ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนเป็นค่าเวร แต่แพทย์ส่วนมากไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่เวรหรือไม่ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลมีตำแหน่งแพทย์ไม่เพียงพอ

พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ปัญหาการทำงานดังกล่าวนี้ แม้ในอดีตจะเคยมีการทำข้อเสนอเพื่อควบคุมชั่วโมงเวลาการทำงานของแพทย์และมีการหารือหลายครั้งเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาแต่ก็ยังไม่เคยมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการหรือมีการกำหนดเป็นกฎหมายควบคุมการทำงานแต่อย่างใด ดังนั้น สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน จึงขอร้องเรียนให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ได้มีเวลาพักอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากออกเวรดึก คือเวลา 00.00 – 08.00 น. และหลังจากทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง รวมทั้งขอชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการปฏิบัติงานในวันต่อไป และลดโอกาสความผิดพลาดในการปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย รวมถึงเพื่อรักษาสุขภาพของบุคลากรเองด้วย

ด้าน นายพิธา กล่าวว่า เมื่อนำระบบสาธารณสุขของไทยไปเปรียบเทียบกับความเป็นสากลจะเห็นได้ชัดว่าการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข และต้องปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขให้มีระบบ Primary Care ในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อไม่ให้งานทุกอย่างมาอยู่ที่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในคณะ กมธ.การแรงงาน ในสัปดาห์หน้า ซึ่ง นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะ กมธ. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว

Related Posts

Send this to a friend