POLITICS

คณะผู้ประสงค์ลงสมัคร สว.ฟ้องศาลปกครอง หลัง กกต.ออกระเบียบห้ามผู้สมัครแนะนำตัวผ่านสื่อ

คณะผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. ยื่นฟ้องศาลปกครอง หลัง กกต.ออกระเบียบห้ามผู้สมัครแนะนำตัวผ่านสื่อ ชี้ เป็นการปิดกันเสรีภาพผู้สมัคร มอง ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะทราบคุณสมบัติของผู้สมัคร ขอศาลเร่งรัดพิจารณาเพื่อความชัดเจน

วันนี้ (30 เม.ย. 67) คณะผู้ประสงค์ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นำโดย นายพนัส ทัศนียานนท์ นางสาวชลณัฏฐ์ โกยกุล นายศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ และนายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ยื่นหนังสือถึงศาลปกครองกรณีกำหนดการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.

นายพนัส กล่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ลงสมัคร สว.ที่กำหนดข้อห้ามการแนะนำตัวกับสื่อต่าง ๆ รวมทั้งบนสื่อออนไลน์ ซึ่งมองว่า กกต.ไม่มีอำนาจที่จะมาบังคับจำกัดสิทธิ์การแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.ได้ขนาดนั้น ซึ่งการออกกำหนดในลักษณะนี้เป็นการจำกัดสิทธิการแนะนำตัวผ่านสื่อทั่วไป ทั้งที่ควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักกับประชาชนทั่วไป เพราะ สว.มีขึ้นมาเพื่อเป็นผู้แทนของประชาชนเช่นเดียวกับ สส.

นายพนัส กล่าวต่อว่า ประชาชนทั่วไปควรมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าผู้ลงสมัครแต่ละคนเป็นใครมาจากไหน และมีคุณสมบัติอย่างไร เพราะประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการที่จะมี สว.ชุดใหม่เกิดขึ้น จึงฟ้องร้องให้ศาลปกครองวินิจฉัยในประเด็นนี้ โดยให้ศาลออกเป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว พร้อมกับคำร้องและคำฟ้องที่ยื่นไปในครั้งนี้ด้วย อีกทั้งขอให้ศาลพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งรัดตามข้อกำหนดที่มีการวางไว้ และทำการไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งก็ต้องการให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

ส่วนมองว่าระเบียบนี้มีการเอื้อ และส่งผลกระทบต่อใครบ้าง นายพนัส กล่าวว่า กระทบต่อผู้ลงสมัคร สว.โดยตรง เนื่องจากไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแนะนำตัวต่อสื่อได้ และมองว่าระเบียบนี้เมื่อออกมาแล้วเป็นการปิดปากทำให้ไม่สามารถร้องกับใครได้อีก ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้มีอิทธิพล เพราะเมื่อเป็นระบบปิดจะทำให้มีช่องโหว่ที่จะจัดตั้งกลุ่ม

ด้าน นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ระเบียบของ กกต.ข้อ 7 ที่ให้ทำเอกสารแนะนำตัวในกลุ่มสายอาชีพเท่านั้น ซึ่งมีความขัดแย้งกัน ส่วนการแนะนำตัวในสถานที่เลือกจะกระทำไม่ได้ เกิดข้อสงสัยว่าจะสามารถแนะนำได้ที่ไหน เพราะช่องทางออนไลน์ก็ไม่สามารถแนะนำได้

นางสาวชลณัฏฐ์ เปิดเผยว่า กฎบางข้อมีความขัดแย้งในตัว กรณีผู้สมัครไม่สามารถหาเสียงทั่วไป แต่ต้องหาเสียงกับผู้สมัครกันเองจะคัดกรองอย่างไรว่าใครเป็นผู้สมัคร เพราะเว็บไซต์รวบรวมผู้สมัครก็ถูก กกต.สั่งให้นำข้อมูลออก ส่วนเรื่องสมาชิกวุฒิสภาสีส้ม ยืนยันว่าเป็นสระไม่มีสี

เมื่อถามว่ากรณีที่สื่อทำข่าวผู้สมัคร สว.เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ นางสาวชลณัฏฐ์ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีความเสี่ยงมากกว่า ซึ่งกำหนดให้ทำข่าวได้ปกติ แต่จำกัดการห้ามพูดในโซเชียล แต่สามารถพูดกับผู้สมัครอื่น ๆ ได้

“การทำงานที่สื่อสารทางหน้าจอ มีการพูดในสื่อพื้นของตัวเองอยู่แล้ว จะสุ่มเสี่ยงที่จะโดนสอยมากกว่ากลุ่มอื่น มองว่าเราก็ไม่ได้ผิดกฎหมายข้อไหนเลย” นางสาวชลณัฏฐ์ กล่าว

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ เปิดเผยว่า เว็บไซต์ senate67 จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครและให้ประชาชนติดตามผู้สมัคร แต่จากระเบียบที่ออกมาซึ่งไม่มีความชัดเจน มองว่าเป็นระเบียบที่แปลก ผู้สมัครหลายคนกังวลว่าจะถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งจำเป็นต้องเอาลงก่อน

Related Posts

Send this to a friend