POLITICS

‘จิรวัฒน์’ เผย ‘เพื่อไทย’ เข้าชื่อพร้อมยื่นร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ เข้าสภาฯ พรุ่งนี้ เชื่อนายกฯ ให้ความสำคัญ

‘จิรวัฒน์’ เผย ‘เพื่อไทย’ เข้าชื่อพร้อมยื่นร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ เข้าสภาฯ พรุ่งนี้ เปิดทางรัฐ-ประชาชนร่วมกำหนดเขตคุ้มครองวิถีชีวิตฯ เชื่อนายกฯ ให้ความสำคัญลงนามอนุมัติฉบับ ‘ก้าวไกล-พีมูฟ’ เพื่อสภาฯ ถก 5 ฉบับประกอบกันได้

วันนี้ (30 ม.ค. 67) นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และรองโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters เกี่ยวกับการเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ฉบับพรรคเพื่อไทย

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตามคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ครอบคลุมถึงเรื่องของการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 70 ดังนั้นเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องมีกรอบระยะเวลาในการเตรียมการที่จะเสนอกฎหมาย

ขณะนี้ ร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ฯ ฉบับของรัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอเข้าไปสู่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการเวียนความเห็น คาดว่าจะได้เสนอให้แก่ ครม. เร็วสุดในวันอังคารหน้า (6 ก.พ. 67)

ส่วนในแง่บทบาทของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนนั้น นายจิรวัฒน์ ยืนยันว่า จำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ กลุ่มชาติพันธุ์เองถือเป็นหนึ่งในกลุ่มของพี่น้องประชาชนชาวไทย แต่กลุ่มชาวชาติพันธุ์ อาจมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากคนเมือง ด้วยประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ที่แตกต่างออกไป เช่น พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ตามแนวเขา หรือพื้นที่ราบสูง ซึ่งเป็นผู้ที่มีวิถีชีวิตเข้าไปคาบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อุทยาน หรือพื้นที่ต้นน้ำ เดิมทีพื้นที่ตรงนี้มี พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ หรือ พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คุ้มครองดูแลอยู่ ซึ่งอาจจะไปกระทบกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

ดังนั้น พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับของพรรคเพื่อไทย จะเข้าไปส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเน้นในเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมและสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงสถานพยาบาลของกลุ่มชาติพันธุ์ และมีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิต อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมพิเศษ โดยภาครัฐและภาคประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองว่า จะมีการทำมาหากินอย่างไร มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเข้ามาส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เคยกล่าวไว้ว่า “อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งหมายความว่า ต้องขอบคุณการต่อสู้ของสภาชนเผ่าแห่งประเทศไทยและพี่น้องภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ต่อสู้กันมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี จนรัฐบาลได้ขับเคลื่อนเพื่อให้กฎหมายแก่กลุ่มชาติพันธุ์ครั้งแรกของประเทศไทย

นายจิรวัฒน์ ย้ำว่า พรรคการเมืองถือเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นในเรื่องของการคุ้มครองซึ่งสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญ

“กลุ่มชาติพันธุ์ที่เราถือว่าเป็นพี่น้องประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่ง เขาไม่ได้ต้องการที่จะมีสิทธิพิเศษเหนือบุคคลใด เพียงแค่ต้องการเป็นคนไทยคนหนึ่งเช่นเดียวกัน และพวกเขาก็เชื่อในศักยภาพของตนเองว่าสามารถที่จะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศได้ เฉกเช่นเดียวกับพลเมืองหรือประชาชนคนไทย” นายจิรวัฒน์ กล่าว

ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่มองมิติด้านความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองผ่านมิติของวัฒนธรรม ต้องไปดูว่าทุนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มีอะไร แล้วจึงนำมาส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของพวกเขา พัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจ ส่งเสริมรายได้ การประกอบอาชีพที่พัฒนามาจากทุนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

ส่วนท่าทีของพรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชน ที่อยากให้นายกรัฐมนตรี ลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ. กลุ่มชาติพันธุ์ฯ ฉบับของพรรคก้าวไกลและพีมูฟ มีความคิดเห็นอย่างไร นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างของพรรคการเมืองใดที่เสนอมา เชื่อว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญทั้งหมด ซึ่งในแง่การรับรองการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านการเงิน 2 ฉบับที่นายกรัฐมนตรีต้องเซ็นรับรองนั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องที่จะเข้าไปในสภาฯ จะต้องมีการพิจารณาประกอบร่างกัน เนื่องจากมีสาระสำคัญและหลักการที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น วันที่ 17 ก.พ. 67 จะเป็นวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ที่ส่งไปให้ ครม. ทบทวนแผนการร่าง พ.ร.บ. และพิจารณาร่วมร่างกันทั้งในภาคประชาชน ภาครัฐบาล พรรคการเมือง รวมถึงของพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอชื่อเข้าไปในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค. 67)

Related Posts

Send this to a friend