‘โรม’ ชี้ หาก ‘สมศักดิ์‘ วีโต้มติแพทยสภาถือว่าไม่อายฟ้าดิน
มอง กระบวนการยุติธรรมเหลือจะทน แค่มีนักโทษอภิสิทธิ์ชน ก็แย่พอแล้ว วันนี้มาเจอนักโทษเทวดาอีก ขอฝากความหวังไว้กับ คกก.สภานายกพิเศษ ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ตอบไม่ได้ จะมีผลต่อการพิจารณาคดี 13 มิ.ย.นี้หรือไม่
วันนี้ (29 พ.ค. 68) ที่อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงถึงกระแสข่าวที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ ได้มีการทำหนังสือกลับถึงแพทยสภา ภายหลังมีมติ กรณีพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ในเชิงข้อเท็จจริง จะต้องนำข้อเท็จจริงทางการแพทย์ การที่แพทยสภาออกมาชี้ค่อนข้างชัดว่า ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต ก็สมควรที่จะจบแล้ว ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เคยพูดในสภาว่า ถึงที่สุดก็ให้แพทยสภาเป็นคนตัดสิน ฉะนั้น เมื่อไม่วิกฤต ความจำเป็นที่นายทักษิณ จะต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจต่อไป ก็จบแล้ว
นายรังสิมันต์ ระบุว่า นั่นหมายความว่า กระบวนการทั้งหมด ที่มีการนำนายทักษิณไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเรื่องของการช่วยเหลือกัน เพื่อทำให้นายทักษิณไม่ติดคุก แต่ให้ไปอยู่สบาย ๆ ยังไม่นับข้อเท็จจริง ที่ห้องพยาบาล อาจจะเรียกว่า หรูหราเกินความจำเป็น ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า นายทักษิณได้รับสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าคนอื่น
ส่วนในแง่ของการที่จะลงโทษคนที่เกี่ยวข้องนั้น คนที่เป็นหมอ ก็คงจะอยู่ในกระบวนการว่า ทางแพทยสภาจะยืนยันกลับไปอีกครั้งหรือไม่ ภายหลังจากที่นายสมศักดิ์วีโต้กลับมา ตนเองไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ แต่หวังว่า แพทยสภาจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยยึดเอาพยานหลักฐาน สิ่งที่เถียงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของความเห็น และคิดไปถึงมาตรฐานในอนาคต ว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ วันนี้มีนายทักษิณนอนอยู่ที่ชั้น 14 วันต่อไปจะเป็นใคร ต่อไปนี้หมอสามารถรับงานแบบนี้โดยที่ไม่สนใจกระบวนการยุติธรรม และเรื่องของวิชาชีพ ไปช่วยคนดัง คนมีอำนาจ ประเทศไทยจะอยู่กันอย่างไร
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความสง่างามของนายสมศักดิ์ ที่ใช้กระบวนการวีโต้กลับมา เดี๋ยว เราทุกคนทราบว่า นายสมศักดิ์อยู่พรรคอะไร นายทักษิณมีอำนาจ มีอิทธิพลต่อใคร และเป็นพ่อของนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติม ให้กรณีชั้น 14 เป็นเรื่องของการช่วยเหลือพวกพ้อง ต้องยอมรับว่า กระบวนการช่วยเหลือนายทักษิณ ไม่อายฟ้าดิน ไม่ได้สนใจว่าประชาชนจะมองต่อปรากฏการณ์นี้อย่างไร และทำให้เกิดมาตรฐานที่เลวร้ายต่อไปเรื่อย ๆ
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ลำพังในอดีตที่มีนักโทษอภิสิทธิ์ชนก็แย่พอแล้ว วันนี้เรามาเจอนักโทษเทวดาในรูปแบบกระบวนการยุติธรรมของเรามันเหลือจะทน เราคงไปหวังพึ่งนายสมศักดิ์ไม่ได้แล้ว หากจะให้พูดง่าย ๆ นายสมศักดิ์มีหน้าที่ปกป้องนายใหญ่
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็คงต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการของศาล หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หวังว่า จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ทำหน้าที่จนนำไปสู่การมีข้อครหา ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายรังสิมันต์ ยังรู้สึกว่า กระบวนการของ ป.ป.ช.ช้ามากเหลือเกิน นายกรัฐมนตรี ควรจะไปให้การได้แล้ว และควรมีการเรียกนายทักษิณเข้าไปให้การได้แล้ว ตนมองว่า กระบวนการเร็วกว่านี้ได้ แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าเท่าไหร่
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า คณะกรรมการสภานายกพิเศษ จะลงมติไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เสียงถึง 48 เสียง ในการวีโต้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเองไม่สามารถทำนายได้ แต่หวังว่าสิ่งที่แพทยสภาจะทำ เป็นสิ่งที่สังคมไทยจับตามอง หากสุดท้ายกลายเป็นกระบวนการช่วยเหลือนายทักษิณ สังคมไทยจะหมดศรัทธาในหมอไปมาก
“กรณีของนายทักษิณ ชัดยิ่งกว่าชัด พฤติกรรมของนายทักษิณ ตั้งแต่ที่ก่อนจะกลับมาประเทศไทย ถ้าจำกันได้ คุณอิ๊งค์อิ๊งค์ พูดชัดเจนว่า พ่อสบายดี มาถึงสนามบินก็ยิ้มแย้มแจ่มใส สามารถอุ้มหลานได้ ผ่านไป 10 ชั่วโมงในเรือนจำ นายทักษิณกลายเป็นคนที่ป่วยปางตาย ผมว่ามันไม่เมคเซนส์ ยังไม่รวมข้อเท็จจริง เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือ ทุกองค์กรควรรู้ว่า การทำหน้าที่ของผม นำมาซึ่งศรัทธาประชาชน” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้ในหลายภาคส่วน ก็ต้องยอมรับเรื่องปัญหาคอร์รัปชัน ความไร้ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนสูญสิ้นศรัทธาไปเยอะแล้ว เราหวังว่าหมอจะไม่ถูกนับรวมไปด้วย
ส่วนการวีโต้ในครั้งนี้ จะทำให้น้ำหนักในการนำไปเป็นพยานหลักฐานคดี ซึ่งจะมีการตัดสินในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ หรือไม่ นายรังสิมันต์ ระบุว่า ตอบไม่ได้ ต้องไปดูในรายละเอียด นายสมศักดิ์ ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเนื้อหาสาระของการวีโต้ จึงตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะส่งผลอย่างไร แต่ก็ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ในเมื่อข้อเท็จจริงชัดว่า นายทักษิณป่วยวิกฤติเป็นเรื่องเท็จ คงต้องรอดู หากนายสมศักดิ์ไม่ดำเนินการในการให้รายละเอียด คงต้องพิจารณาว่า คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนเองเป็นประธาน จะมีการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่