POLITICS

กมธ.ต่างประเทศ ย้ำ คุยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ต้องเป็นไปตามกรอบ MOU 44

กมธ.ต่างประเทศ ย้ำ ไทยยังไม่เสียเกาะกูด คุยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ต้องเป็นไปตามกรอบ MOU 44 เชื่อ หากรัฐบาลอยู่ครบเทอมทำสำเร็จแน่นอน

วันนี้ (29 ก.พ. 67) นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมกรณี กมธ.หารือเรื่องพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา โดยได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสภาหอการค้าไทย เข้าร่วมประชุม โดยกระทรวงการต่างประเทศระบุว่ากรอบเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้ยึดตาม MOU44 ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเจรจาโดยไทยจะไม่เสียประโยชน์ ซึ่งตาม MOU 44 การเจรจาเรื่องพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลและเขตพัฒนาร่วม จะต้องเจรจาควบคู่กันไป

ทั้งนี้การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องทำผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือทางเทคนิคไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่างสองประเทศ โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคง และอื่น ๆ สามารถเชื่อมั่นได้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบจะรักษาประโยชน์ และไม่เสียสิทธิด้านเขตแดนตามที่มีการบิดเบือนในสื่อต่าง ๆ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการจีทีซี จึงยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการ ดังนั้นกรณีที่เสนอข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หารือประเด็นเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา จึงไม่เป็นความจริง

ส่วนประเด็นเรื่องเกาะกูด ยังถือว่าเป็นของไทย MOU 44 ไม่ได้ยอมรับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากเส้นที่ลากโดยไทย จึงต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกันต่อไป ส่วนที่ลบิดเบือนว่า MOU 44 เป็นการยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชา จึงไม่เป็นความจริงเช่นกัน ทั้งนี้ตัวแทนสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต่างสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเจรจากับกัมพูชา เพื่อนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และหวังลดค่าครองชีพให้ประชาชน ไม่ให้กระทบสิทธิทางด้านเขตแดน และผลการเจรจานั้นจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้หาก MOU 44 ไม่ดี หรือหากการเจรจาจะเป็นผลประโยชน์ต่อคนใดคนหนึ่ง กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมแผนที่ทหาร สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงพลังงานคงไม่ยอม ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ เราต้องยอมรับว่าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทะเลไทย-กัมพูชา เป็นเพียงหนึ่งในประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา เรายังมีความร่วมมือเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ คนเข้าเมือง แรงงาน ซอฟต์พาวเวอร์ ท่องเที่ยวที่จะต้องเจรจากันอย่างสันติวิธีโดยวิธีทางการทูต มองว่าการระงับข้อพิพาทเรื่องนี้ใช้วิธีทางการทูตจะดีที่สุด ซึ่งเมื่อสามารถเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนได้จะนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ทางไนโตรคาร์บอนเอ็นเนอจี

นายนพดล กล่าวทิ้งท้ายว่าเอาใจช่วยรัฐบาลนี้ และอยากให้การเจรจาเสร็จเร็วที่สุดโดยที่สองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่กระทบเรื่องสิทธิด้านเขตแดนของไทย หากรัฐบาลนี้ครบ 4 ปีก็เป็นไปได้

Related Posts

Send this to a friend