POLITICS

ครม. เห็นชอบ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ให้อำนาจ จนท.เพิ่มโทษ เจ้าของแอปฯ ธนาคาร เครือข่ายมือถือ

ครม. เห็นชอบ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้อำนาจเด็ดขาดเจ้าหน้าที่ จับกุม-เพิกถอน-เพิ่มโทษ เจ้าของแอปฯ ธนาคาร เครือข่ายมือถือ ลอยตัวไม่ได้ คาดบังคับใช้กุมภาพันธ์นี้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงดีอีจะนำเสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีเหตุผลความเร่งด่วนตามการชี้แจงในที่ประชุม ครม. ดังนี้

รัฐบาลพบว่าประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60-70 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ปัญหานี้ โดย พ.ร.ก.ฉบับเดิม พ.ศ.2566 ยังขาดอำนาจหน้าที่และการกำหนดโทษหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์ม P2P อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีสาระสำคัญ ในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้

1.เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

2.เพิ่มหน้าที่ให้ telco provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

3.เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น

4.เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย

5.เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

6.เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

นายจิรายุ กล่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าหาก ครม. พิจารณาแล้วเห็นว่าการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงการดิจิทัลฯ เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่าง พ.ร.ก. ไปพิจารณาปรับรูปแบบ โดยให้รับความเห็นหน่วยงานไปประกอบการพิจารณาสำหรับร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้หลัง ครม. เห็นชอบ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีการะบุจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คาดว่าประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat