POLITICS

‘ศักดิ์สยาม’ ติดตามผลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองและสายสีชมพู

‘ศักดิ์สยาม’ ติดตามผลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองและสายสีชมพู

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม รองอธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู มีความคืบหน้าอย่างมาก ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ตั้งเป้ากำหนดการเปิดให้บริการไว้ในช่วงปี 2566 จึงได้กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูขึ้น
โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 เพื่อติดตามผลการดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับ
การเปิดให้บริการในด้านต่างๆ

ทั้งในส่วนของการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่น การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม การขอพระราชทานนามแนวเส้นทาง และการสื่อสารสาธารณะ โดย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 สายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ร้อยละ 97.73 ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน มีแผนเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2566 ส่วนสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) มีความคืบหน้าร้อยละ 94.00 ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 39 ขบวน จากทั้งหมด 42 ขบวน มีแผนเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2566

โดยปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำ Proof of Safety เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ ก่อนที่วิศวกรอิสระ (ICE) จะออกหนังสือรับรองความปลอดภัย เพื่อเปิดให้บริการให้แก่ประชาชนต่อไป

ในการประชุม ที่ประชุมได้หารือแนวทางการเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามแผนกำหนดการเปิดให้บริการ และได้หารือแนวทางการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูกับระบบขนส่งอื่น เช่น การก่อสร้าง Skywalk เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีหัวหมาก กับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ สถานีหัวหมาก ซึ่งได้มอบหมายให้ รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง โดยให้เสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค
ซึ่งมีงานทับซ้อนกัน ณ ตำแหน่งทางขึ้นลงของสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ
(สถานี PK11 – PK13)

ประกอบด้วย การรื้อย้าย Duct Bank และแนวสายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการก่อสร้างทางระบายน้ำ (Flood Way) ของกรมทางหลวง โดย รฟม. จะประสานงานกับกรมทางหลวง กฟน. และ ปตท. อย่างใกล้ชิดเพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงาน โดยสามารถเริ่มสร้างทางขึ้น-ลง ได้ตั้งแต่
เดือนกรกฎาคม 2566

ทั้งนี้ ในการประชุม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ
ให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ดำเนินการดังนี้

1.คณะอนุกรรมการด้านการเดินรถ การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง และการประเมินคุณภาพ 1.1 ให้ รฟม. ประสานงานกับ รฟท. เพื่อหารือเกี่ยวกับพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างทางเชื่อม (Skywalk) เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีหัวหมาก และสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ สถานีหัวหมาก และเมื่อได้ข้อยุติแล้ว ให้เร่งรัดนำเสนอ คจร. ต่อไป 1.2 ให้ดำเนินการร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ ในการประชาสัมพันธ์เรื่องการคืน
พื้นที่ผิวจราจร และการก่อสร้างทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูบนถนนแจ้งวัฒนะ 1.3 ให้ รฟม. กำชับผู้รับสัมปทานในด้านความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และเตรียมความพร้อมรองรับการจราจรที่หนาแน่นช่วงเทศกาลปีใหม่

2.คณะอนุกรรมการด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร ให้ตรวจสอบที่มา และแนวทางในการคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยเปรียบเทียบกับวิธีการคิดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน

3.คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ 3.1 ให้ประสานข้อมูลจากคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น แผนการเปิดให้บริการ แนวทางการเชื่อมต่อขนส่งมวลชน
ระบบอื่น ๆ รวมถึงการก่อสร้างจุดขึ้น-ลงของสถานีรถไฟฟ้าบนถนนแจ้งวัฒนะ โดยให้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง 3.2 ให้ รฟม. และผู้รับสัมปทานร่วมกันหาแนวทางการประชาสัมพันธ์ผ่าน Influencer ต่างๆ โดยให้มีการศึกษากลุ่มเป้าหมาย (Target Group) ที่จะสื่อสาร เพื่อให้สามารถจัดหาวิธีการนำเสนอที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และสอดคล้องกับสื่อสังคมออนไลน์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

4.คณะอนุกรรมการด้านการเตรียมการขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการ

ให้ดำเนินการขอพระราชทานนามสำหรับทั้ง 2 โครงการ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

Related Posts

Send this to a friend