ชาญชัย-สมชาย-ทนายนกเขา จี้ ป.ป.ช. เร่งสอบรัฐบาล ‘เศรษฐา-แพทองธาร’ ปมดิจิทัลวอลเล็ต

วันนี้ (26 พ.ค. 68) เวลา 11.00 น. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไว้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ให้ตรวจสอบการปรับลดงบประมาณของรัฐบาลในยุคของนายเศรษฐา อดีตนายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร เพื่อนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 144
นายชาญชัย เปิดเผยว่า ได้นำเอกสารคำสั่งและความเห็นจาก 3 หน่วยงานสำคัญที่รัฐบาลเคยสอบถามเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมายื่นเพิ่มเติม ประกอบด้วย ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ป.ป.ช. เอง ซึ่งทุกหน่วยงานได้แสดงความเห็นคัดค้านหรือแสดงความกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหาย นายชาญชัยกล่าวหาว่าเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลนำเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ใช้หนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแทน ทำให้ ธ.ก.ส. ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้คืนสถาบันการเงินอื่น และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเนื่องจากราคาข้าวและผลผลิตการเกษตรตกต่ำ เพราะ ธ.ก.ส. มีเพดานเงินกู้เต็มวงเงินแล้วจากการกระทำของรัฐบาล
ด้านนายสมชาย กล่าวเสริมว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน กำหนดชัดเจนว่าห้ามตัดงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อชำระหนี้ตามกฎหมาย การกระทำของรัฐบาลโดยผ่านมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมาธิการในการนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นการฝ่าฝืนและนำไปสู่ความเสียหายที่ชัดเจน โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟสที่ 3 ไม่ควรเกิดขึ้น การตัดงบประมาณจากมาตรา 144 ถือเป็นการเบี้ยวหนี้ของรัฐบาล นายสมชายยังเปรียบเทียบกับคดีจำนำข้าวที่แม้จะขาดทุน แต่ยังมีการตั้งงบประมาณใช้หนี้มาโดยตลอด ขณะนี้หนี้โครงการจำนำข้าวยังคงค้างอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับนำเงินไปใช้ในโครงการอื่น ทั้งที่มีคำเตือนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ป.ป.ช. และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แล้วว่าอาจเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ดัชนีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำและประเทศไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
นายนิติธร หรือทนายนกเขา ชี้ว่า ตามกรอบเวลา ป.ป.ช. มีเวลาพิจารณา 45 วัน ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้ว 30 วัน จึงต้องการให้ ป.ป.ช. พิจารณาโดยเร็วเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และได้ยื่นเอกสารความเห็นของทั้งสามหน่วยงานดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา โดยเน้นย้ำว่าเอกสารจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตือนถึงผลกระทบที่รุนแรงหากดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงมาเพื่อย้ำเตือนให้ ป.ป.ช. เร่งรัดการพิจารณา
กลุ่มผู้ร้องเชื่อว่าการกระทำของรัฐบาลถือเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบและมีมติส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยหรือชี้ว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดและก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณตามอำเภอใจในอนาคต