POLITICS

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ รายงานตัวตามนัด เหตุชุมนุมหน้าทำเนียบฯ

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ รายงานตัวตามนัด เหตุชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ขอ ตร.สอบพยานเพิ่ม-เลื่อนส่งสำนวนคดีเป็น 2 มี.ค.65

วันนี้ (26 ม.ค.65) เวลา 13.30 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 37 คน เดินทางไปที่ สน.ดุสิต เพื่อรายงานตัวตามหมายเรียก จากเหตุชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 ทั้งนี้ก่อนเข้ารายงานตัว ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้มาร่วมให้กำลังใจ และอ่านแถลงการณ์ ใจความสำคัญระบุว่า

ขอยืนเคียงข้างพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ร่วมให้กำลังใจในนามเพื่อนร่วมชะตากรรมและในนามประชาชน ขอแสดงจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบที่พี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นดำเนินการหลังจากนี้ ทั้งยังขอส่งสารไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ยุติการดำเนินคดีพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้งหมดทันที และหยุดบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างสถานการณ์โควิด แล้วนำมาจัดการกับผู้ชุมนุม สิทธิในการชุมนุมสาธารณะและสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมและอนุสัญญาระหว่างประเทศ ฉะนั้นการปกป้องทรัพยากรจึงไม่ผิด การปกป้องบ้านเกิดเป็นสิทธิของประชาชน

ด้านนางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เล่าถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.64 พร้อมประกาศจะไปให้กำลังใจกลุ่ม P-Move ที่แยกนางเลิ้ง หลังเสร็จสิ้นการรายงานตัวในเย็นวันนี้ 

โดยระหว่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นพร้อมทีมทนายความเข้ารายงานตัว บริเวณหน้า สน.ดุสิต ได้จัดปราศรัยย่อยพร้อมย่างกุ้ง ก่อนที่เวลา 15.00 น. ทีมทนายความ จะเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า วันนี้พนักงานสอบสวนนัดมารับทราบข้อกล่าวหา แต่เมื่อมาถึงพนักงานสอบสวนแจ้งว่า พร้อมส่งสำนวนคดีให้อัยการแล้ว ซึ่งได้โต้แย้งขอให้สอบปากคำพยานเพิ่มอีก 3 ปาก พนักงานสอบสวนจึงเลื่อนส่งสำนวนคดีให้อัยการไปเป็นวันที่ 2 มี.ค.65 

ด้าน นายสมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ชาวบ้านมาเรียกร้อง ทวงคำสัญญาแต่กลับต้องโดนคดี ความหวังเล็ก ๆ ที่คาดว่าตำรวจอาจไม่สั่งฟ้อง หรือลดกล่าวหา สุดท้ายไม่มี สะท้อนให้เห็นตั้งแต่มีความพยายามไม่ให้ชาวบ้านมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้

“เห็นถึงความอยุติธรรม น้ำจิตน้ำใจของข้าราชการที่ทำกับชาวบ้าน นี่คือความเจ็บปวดที่รับไม่ได้” 

สำหรับข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งแก่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมีทั้งหมด 6 ข้อหา ได้แก่ 

1.ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37

2.ร่วมกันติดตั้ง แขวน วางหรือกองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ

3.ร่วมกันกระทําการปิดกั้นทางหลวงหรือวางวัตถุที่แหลมหรือมีคม หรือกระทําด้วยประการใด ๆ บนทางหลวง ในลักษณะอาจเกิดอันตรายหรือเสียหาย แก่ยานพาหนะ หรือบุคคล

4.ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร 

5.ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น แขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร

6.ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอํานาจที่กฎหมายให้อํานาจไว้โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร

Related Posts

Send this to a friend