‘ภูมิธรรม’ ยืนยัน ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย ชี้ ประเทศชาติต้องมาก่อนเรื่องอื่น

เตรียมนั่ง ปธ.คณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ดึง สภาพัฒน์-กฤษฎีกา ร่วมแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเล ลั่น อย่าจินตนาการโยงสัมพันธ์คนในรัฐบาลไทย-กัมพูชา
นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีความพยายามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิก MOU 2544 ในยุคของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่รัฐบาลปัจจุบันจะนำมาเป็นเครื่องมือในการแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งมองว่าไทยจะเสียเปรียบการปักปันเขตแดนทางทะเล โดยเฉพาะเรื่องเกาะกูด จ.ตราด ว่า MOU 2544 เราทำได้ดีแล้ว คนที่ทำเรื่องนี้ได้ดี คือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งสมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายภูมิธรรม ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทยมาโดยตลอด และไม่เคยมีปัญหาว่ากัมพูชาอยากจะเอา แบ่งเขตแดนและการพูดคุยเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนในเรื่องเก่าที่เกิด MOU 2544 ไม่ใช่ MOU จะให้ทำ แต่เป็น MOU จะให้ไม่ทำ ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่องเส้นเขตแดน โดยข้อเท็จจริงแล้วเส้นเขตแดนมาตามเกาะกูด และอ้อมเกาะกูดลงมา โดยไปตามแนวของเกาะกูด เพียงแต่เราอยากเห็นการปักเส้นเพียงนิดเดียว คือ เส้นนี้ แทนที่จะไปล้อมรอบเกาะกูด ก็ตรงออกมาเลย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะทุกประเทศมีหลักการที่ใช้คือวัดจากไหล่ทวีปมา 200 ไมล์ทะเล และอ่าวไทยแคบ เมื่อมีการประกาศ 200 ไมล์ทะเล เราก็ 200 ไมล์ทะเลตาม ทำให้ต่างฝ่ายมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งในโลกนี้มีหลายประเทศก็ใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อตกลงผลประโยชน์ ซึ่งเรื่องดินแดนของเราในเรื่องเกาะกูด ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสว่าเกาะกูดเป็นของไทย
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือข้างล่างใต้ทะเลที่มีประโยชน์ น้ำมันใช้ได้ ซึ่งอีก 10 ปี จะลดความสำคัญลง และตรงนี้กว่าจะตกลงกันได้หากเอาผลประโยชน์ขึ้นมาก็ 5 ปี ซึ่งหากไม่ทำอะไรภายใน 10 ปี ก็ไม่มีความหมาย เพราะปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ประเทศชาติจะต้องสูญเสียทรัพยากรตรงนี้ไป การที่รัฐบาลจะนำเรื่องนี้มาพูดคุย ซึ่งเข้าใจว่าตนเองน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะสมัยก่อนเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ต้องเจรจากัน อย่าขยายเป็นเรื่องการยึดดินแดน
นายภูมิธรรม กล่าวถึงกรณีที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ในเกาะกูด ทั้งการขีดเส้นขีดแดงขึ้นเอง และการสร้างสะพานลงในอ่าวไทย โดยยึดเขตแดนดังกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกัน เพราะต่างฝ่ายต่างพูดก็จะไม่มีข้อสรุป ปัจจุบันนี้เรื่องเส้นเขตแดนที่ทุกประเทศมีปัญหา มีความสำเร็จน้อยมากที่จะพูดคุยกัน มีหลายประเทศที่พูดคุยกันแต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ แต่เขามีกระบวนการที่จะหาประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้ทรัพยากรตรงนั้นอำนวยประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีหลายเคสที่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ สิ่งที่จะดูคือจะแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร กับผลประโยชน์ที่ทั้งสองชาติสามารถที่จะอ้างอิงได้ถ้าเข้าใจว่าจาก 2 ไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเลตามที่โลกยอมรับทับกันแน่นอนอยู่แล้ว และเขายึดแผนที่ฝรั่งเศสด้วยซึ่งก็ยังเป็นปัญหาอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในการประกาศขึ้นมาก็เกิดขึ้นได้อยู่แล้วเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ก็ต้องมีการเจรจา
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ถ้าตนเองเข้ามารับผิดชอบคณะกรรมการชุดนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพราะหมดไปกับรัฐบาลชุดที่แล้ว และหลังจากเปลี่ยนแปลงก็คงจะเรียกประชุมว่าจะทำอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับให้มีหน่วยงานที่กว้างขึ้นมากกว่ากระทรวงต่างประเทศ เพราะปัจจุบันเป็นอธิบดีและหัวหน้ากรมสนธิสัญญาอาจจะต้องดึงสภาพัฒน์ กฤษฎีกา และส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วยเพื่อทำให้ภาพรวมมองได้กว้างขวางมากขึ้น
เมื่อถามว่าในมุมมองจะแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนควบคู่ไปกับการปักปันเขตแดนให้เสร็จไปพร้อมกันเลยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นความอยากของทุกคน แต่สามารถทำได้แค่ไหนก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นว่าจะมีประเทศไหนสำเร็จก็ค้างคากันอยู่ เช่น กรณี ไทย-มาเลเซีย ไทย-เวียดนาม ถึงจะสามารถแบ่งปันผลประโยชน์กันได้ เชื่อว่าบนพื้นฐานที่ปัจจุบันอาเซียนค่อนข้างใกล้ชิดและสามารถพูดคุยกันได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ขอเข้าไปดูรายละเอียดก่อน
ส่วนที่มีคนกังวลเรื่องความสัมพันธ์ของคนในรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาที่มีความใกล้ชิดกัน ขออย่าไปจินตนาการเรื่องผลประโยชน์ ประเทศชาติต้องมาก่อนเรื่องอื่น และการแยกดินแดนก็ไม่มีเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ตามที่นานาประเทศทำกัน อย่าจินตนาการ เพราะเรื่องจริงหรือไม่จริงยังไม่รู้ อยากให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เชื่อว่าทุกคนรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ