POLITICS

‘กรวีร์’ เปิดโผผู้มีอิทธิพล พบมี 180 จาก 805 รายชื่อ ยังมีพฤติการณ์ใช้อำนาจ

‘กรวีร์’ ชมสปิริต ‘ชาดา’ สั่งลุยปมลูกเขยเต็มที่ เผยกรมการปกครองรวมโผผู้มีอิทธิพลแล้ว พบใน 66 จังหวัด มี 180 จาก 805 ชื่อ ยังมีพฤติการณ์ใช้อำนาจอยู่

วันนี้ (25 ต.ค. 66) นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ประธานกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ อาคารรัฐสภา ภายหลังการประชุมกรรมาธิการฯ วาระพิจารณาศึกษามาตรการจัดระเบียบสังคมและการปราบปรามผู้มีอิทธิพล

นายกรวีร์ กล่าวว่า นโยบายในการป้องกันและการปราบปรามผู้มีอิทธิพลแห่งชาติ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงมหาดไทย โดยได้มีการเชิญ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย อธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง การป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพื่อเข้ามาให้ข้อมูล ชี้แจง และตอบข้อสงสัยต่างๆ ให้กับทางสมาชิกในคณะกรรมาธิการทราบ โดยสาระสำคัญในที่ประชุม มีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่

1.เรื่องของแนวทางนโยบายที่เห็นตรงกันว่า อยากจะเห็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการให้ผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจ ใช้หน้าที่ ใช้ตำแหน่ง ใช้สถานะทางสังคม หรือใช้อำนาจทางการเงิน มาทำให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบ และมารังแกพี่น้องประชาชน

2.แนวทางหลังจากได้รับนโยบายจากคณะรัฐมนตรี โดยที่รัฐมนตรีได้ตั้งคณะอนุกรรมมาธิการขึ้นมา ซึ่งได้มอบหมายให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการมีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งตัวแทนของอธิบดีกรมการปกครอง แจ้งว่า ได้มีการส่งหนังสือและแจ้งให้กับแต่ละจังหวัด ส่งรายชื่อคัดกรองผู้มีอิทธิพลจากทั่วทั้งประเทศมายังกระทรวงมหาดไทย

โดยตัวเลขเมื่อเช้านี้ ที่มีการชี้แจงในที่ประชุม พบว่า มีจังหวัดที่เป็นสีเขียว (ไม่มีผู้ที่มีอิทธิพล) จำนวน 10 จังหวัด จังหวัดที่เป็นสีเหลือง จำนวน 66 จังหวัด 84 อำเภอ ซึ่งในกลุ่มจังหวัดสีเหลือง มีกลุ่มที่อยู่ในข่ายผู้มีอิทธิพลทั้งหมด 805 รายชื่อ

ซึ่งในจำนวน 805 รายชื่อ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก ที่มีจำนวน 180 รายชื่อ เป็นกลุ่มที่มีผู้มีอิทธิพลอยู่ในกลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลและมีพฤติการณ์ที่ยังใช้อิทธิพลในพื้นที่อยู่ ส่วนอีก 625 รายชื่อ เป็นผู้ที่เคยมีอิทธิพล แต่ปัจจุบันไม่ได้มีพฤติการณ์ในการใช้อำนาจข่มเหง รังแกพี่น้องประชาชนแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นรายชื่อที่กรมการปกครองได้เฝ้าติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น ได้มีการสอบถามไปถึงคำจัดกัดความของ “ผู้ที่มีอิทธิพล” ในความหมายของทางกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำ หรือสั่งการให้กระทำที่มีการละเมิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจทางการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม หรือปัจจัยอื่นใดที่ไปคุกคาม กดขี่ข่มเหง หรือรังแกพี่น้องประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าทางกาย จิตใจเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงว่า เรื่องการผิดกฎหมายมีทั้งหมด 16 มูลฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการทำผิด แต่การกระทำผิดนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งหมด ใครผิดก็ว่าไปตามผิด

3.ภายหลังจากการที่ได้รับทราบรายชื่อแล้ว มีแนวทางในการจัดการกับ 180 รายชื่อ ที่ปรากฎเป็นผู้มีอิทธิพลในปัจจุบันอย่างไร คณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เนื่องจากทางรัฐมนตรี เพิ่งจะได้จัดตั้งคณะทำงานไม่นาน ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรก คือ การคัดกรองรายชื่อ และรวบรวมรายชื่อของผู้ที่อยู่ในข่ายผู้มีอิทธิพล ส่วนขั้นตอนต่อไป คือ นโยบายจากทางฝ่ายบริหาร ว่าจะมีแนวทางนโยบายอย่างไร โดยในส่วนของแนวทางปฏิบัติต่อการจัดการกับผู้มีอิทธิพล ทางฝ่ายปกครอง ระบุว่า จะเข้าไปจับกุมและปราบปราม รวมไปถึงพูดคุย เพื่อให้เลิกกระทำพฤติการณ์ดังกล่าว

4.เรื่องการเน้นย้ำการคัดเลือกในการทำรายชื่อที่ส่งขึ้นมาจะต้องมีความเป็นธรรม และการติดตามประเมินผลการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพื่อให้มีคำตอบที่ชัดเจนแก่ประชาชน และให้ได้ทราบว่าการทำนโยบายดังกล่าวสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

นายกรวีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้มีการร้องขอให้เปิดช่องทางสำหรับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ ให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส หากพบผู้ที่เข้าข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ เพื่อเปิดโอกาสและมีช่องทางให้แก่ประชาชนได้มีส่วนร่วม และสามารถแจ้งข่าวกับทางหน่วยงานราชการ ในเบื้องต้นกรมการปกครอง ระบุว่า สามารถแจ้งผ่านศูนย์ดำรงธรรม เบอร์โทรศัพท์ 1567 ได้

ในส่วนกรณีรายชื่อที่อยู่ในจังหวัดอุทัยธานี เข้าข่ายรายชื่อผู้มีอิทธิพลหรือไม่ ทางกรมการปกครองได้มีการชี้แจงในที่ประชุมว่า หลังจากเหตุการณ์เข้าจับกุม นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ จ.อุทัยธานี ไปเมื่อวานนี้ (24 ต.ค. 66) ซึ่งอาจจะมีความผิดจริง ก็ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล แต่เงื่อนไขที่สำคัญ คือ การกระทำผิดกฎหมายเหล่านั้นเข้าข่ายในการใช้อำนาจหน้าที่ ในการคุกคาม รังแก พี่น้องประชาชนหรือไม่ ถ้าหากไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว ก็ถือว่าไม่ได้เข้าข่ายรายชื่อผู้มีอิทธิพลตามความหมายของกระทรวงมหาดไทย

“ต้องขอชื่นชมในสปิริตของท่านรัฐมนตรี (นายชาดา ไทยเศรษฐ์) และตนเองคิดว่า นี้คือมิติใหม่ทางการเมือง จากที่หลายคนตั้งคำถามว่าท่านรัฐมนตรีมาปราบปรามผู้มีอิทธิพล จะทำได้จริงเหรอ วันนี้คิดว่าพี่น้องสื่อมวลชนคงจะได้คำตอบว่า แม้กระทั่งคนที่เป็นลูกเขย คนที่เรียกว่าเป็นคนใกล้ชิดกับตัวท่านรัฐมนตรีที่ทำเรื่องนี้โดยตรงว่า ไม่ได้รับการละเว้น หรือไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และท่านชาดาเองมีความยินดี และกำชับกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า ไม่ต้องเกรงใจ และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้เลย” นายกรวีร์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend