เครือข่ายภาคประชาชน แถลงสรุปปัญหาการเลือก สว.

ชี้ ระบบไม่อำนวยความสะดวก ทำผู้สมัครไม่ถึงครึ่งแสน เรียกร้อง กกต. ไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง พร้อมเร่งประกาศรายชื่อผู้สมัคร และยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
วันนี้ (25 พ.ค. 67) องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย We Watch, iLaw, ActLab, เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL)และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) ร่วมกันแถลงข่าวสรุปปัญหาการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมข้อเสนอแนะถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนหลังจากนี้
องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ได้สรุปปัญหาที่พบในวันรับสมัคร สว. ทั้ง 5 วัน โดยปัญหาที่พบได้แก่ กลไกการสมัครล่าช้า สร้างภาระให้ประชาชน ,เจ้าหน้าที่สับสน สะท้อนการเตรียมความพร้อมของ กกต. ,ขาดการอำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ และผู้พิการ
ซึ่งในกรณีเรื่องกลไกการสมัครล่าช้า สร้างภาระให้ประชาชนนั้น จากที่เราสังเกตการณ์ พบว่า ในการรับสมัครวันแรก ระบบล่มในหลายพื้นที่ จนทำให้การรับสมัครล่าช้า ซึ่งเมื่อระบบกลับมา โดยรวมยังพบว่ากระบวนการรับสมัครสำหรับผู้สมัครหนึ่งคนจะใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที และในบางกรณีใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง โดยกกต. เลือกที่จะกำหนดวันรับสมัครไว้เพียง 5 วัน ทั้งๆ ที่กฎหมายให้เปิดรับสมัครได้ถึง 7 วัน และไม่ครอบคลุมวันหยุดเสาร์อาทิตย์ รวมทั้งการจ่ายค่าสมัครก็รับเพียงแค่เงินสด ทำให้สร้างภาระ และส่งผลกระทบต่อประชาชน
ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่สับสน พบว่า หลายกรณีมีเจ้าหน้าที่เรียกเอกสารที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ เช่น สูติบัตร วุฒิการศึกษา หนังสือรับรองการทำงานจากบริษัท รวมถึงดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่กลายเป็นภาระให้ผู้สมัคร ต้องโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง หรือบางคนอาจจะต้องมีภาระหาเอกสารเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น แสดงให้เห็นถึงการอบรม และการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่ยังมีปัญหา
อีกทั้ง ยังมีกรณีเรื่องการขาดการอำนวนความสะดวกผู้พิการ และผู้พิการ ซึ่งการจัดสถานที่รับสมัครหลายแห่งไม่เอื้อต่อการเดินทางของผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น โดยหลายพื้นที่ที่มีบันไดและทางต่างระดับ ซึ่งมีการจัดสถานที่รับสมัครไว้บนอาคารชั้น 2 หรือชั้น 3 ผู้พิการทางสายตายังไม่รับการอำนวยความสะดวกเพราะไม่มีเอกสารที่เป็นอักษรเบรลล์
นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาชน ยังตั้งข้อสังเกต และข้อกังวลเกี่ยวกับการทุจริต และการซื้อเสียง เจ้าหน้าที่เสี่ยงเปิดเผยข้อมูลผู้สมัครก่อนพ้นเวลารับสมัคร โดยพบว่า มีสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวในพื้นที่การรับสมัคร โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปกปิดรายชื่อผู้สมัครให้มิดชิด รวมถึงบางพื้นที่ยังให้ผู้สมัครเข้ากลุ่มไลน์เดียวกันก่อนวันปิดรับสมัคร อาจทำให้มีคนทราบล่วงหน้าได้ว่า ในอำเภอนั้นๆ มีผู้สมัครแล้วกี่คน และประเมินได้ว่ามีกลุ่มอาชีพละกี่คน รวมถึงพบรายงานความผิดปกติเกี่ยวกับการระดมคน การจ่ายเงินจ้างให้ลงสมัคร และการขนคนไปสมัครพร้อมกันในหลายพื้นที่ หลายกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของผู้ที่มาสมัครกันเป็นกลุ่มใหญ่กับข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น และยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือก สว. ยังเป็นข้าราชการซึ่งมักมีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ยังเห็นว่า ระบบไม่เอื้อ ทำให้ผู้สมัครมีจำนวนน้อย เนื่องจากมีผู้สมัครไม่ถึง 50,000 คน น้อยกว่าที่ กกต. เคยคาดหมายไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง กระบวนการขั้นตอนที่ซับซ้อน และการประกาศวันรับสมัครอย่างกระชั้นชิด รวมถึงการตีความคุณสมบัติของผู้สมัครที่ขาดความชัดเจน ผลที่เกิดขึ้นวันนี้แสดงให้เห็นว่า การเลือก สว. ครั้งนี้เป็นระบบที่กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน มีข้อเรียกร้องต่อ กกต. สำหรับกระบวนการต่อไป ดังนี้
1.กกต. ต้องประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัคร สว. โดยเร็ว ครบถ้วน และเข้าถึงง่าย ต้องให้ผู้สมัครสว. และประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ทางระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 29 พ.ค. 67
2.กรณีที่ไม่รับสมัครบุคคลใด กกต. ต้องระบุเหตุผลที่ชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ต้องมีการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องอำนวยความสะดวกให้กับบุคคที่ต้องการยื่นคัดค้านผลการวินิจฉัย
3.กกต. ต้องให้ความชัดเจนว่าจะเปิดเผยข้อมูลผู้สมัครสว. เมื่อใด เปิดเผยช่องทางไหนบ้าง และจะอำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครที่ไม่สามารถไปรับเอกสารตามวันเวลานัดหมายได้อย่างไร
4.กกต. ต้องประกาศสถานที่เลือกในระดับอำเภอโดยเร็ว และต้องเป็นสถานที่ที่เป็นที่รู้จัก เดินทางไปได้โดยสะดวก ต้องให้ความชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอน และแนวปฏิบัติว่าการเลือกจะต้องทำอย่างไร ผู้สมัครต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ใช้เวลาในการเลือกเท่าใด
5.กกต. ต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้ตลอดกระบวนการ ต้องเปิดให้ผู้สังเกตการณ์ และผู้สมัคร สว. มีสิทธิทักท้วงกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยสะดวกและรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรับสมัครเสร็จสิ้น กกต. แจ้งว่าจะเผยแพร่บัญชีรายชื่อผู้สมัครทุกกลุ่มอาชีพทุกอำเภอในวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 เวลา 22:00 น. ทางแอปพลิเคชั่น Smart Vote และภายใน 5 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม 25567 จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบแล้วอีกครั้ง
ส่วนผู้สมัครที่ยื่นใบสมัครเรียบร้อยแต่ กกต. ไม่ประกาศรับรองรายชื่อ และออกหนังสือแจ้งการไม่รับสมัคร ผู้สมัครนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วัน ขณะที่ผู้สมัครที่เข้าสู่กระบวนการในวันเลือก แล้วพบความผิดปกติ เช่น การปฏิบัติผิดขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ การนับคะแนนผิด การขานบัตรเสียผิด จะต้องทักท้วงให้เจ้าหน้าที่แก้ไขได้ทันทีหากพบการกระทำที่ส่อความไม่สุจริต เช่น การมีบุคคลภายนอกเข้าแทรกแซงการเลือก ก็ต้อง ร้องเรียนและบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ โดยทางเครือข่ายฯ จะมีแบบฟอร์มการทักท้วงการทำงานของเจ้าหน้าที่และการร้องเรียนความผิดปกติ ซึ่งจัดเตรียมไว้ที่เว็บไซต์ senate67.com
องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ยังตั้งข้อกังวลเรื่องระเบียบ กกต. ว่าด้วยเรื่องการแนะนำตัว ที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะผู้สมัคร ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ทำให้การแนะนำตัวไม่เป็นสาธารณะเท่าที่ควร รวมถึงข้อจำกัดที่พูดได้ไม่กี่เรื่อง และข้อห้ามที่ผู้มีอาชีพศิลปิน ใช้อาชีพแนะนำตัว ทำให้การแนะนำตัวไม่ทั่วถึง ไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม และถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้สมัครบางกลุ่ม
แต่อย่างไรก็ดี ที่เมื่อวานนี้ (24 พ.ค. 67) ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต. 5 ข้อ ทำให้การแนะนำตัวจะไม่มีข้อจำกัด ทั้งในแง่ของรูปแบบ เนื้อหา ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวกันได้อย่างอิสระ ยกเว้นการให้สัมภาษณ์สื่อ ทำให้การเลือก สว. ครั้งนี้เปิดกว้างมากขึ้น ผู้สมัครไม่ต้อง กังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขของการแนะนำตัวอีกต่อไป แต่ผลของคำพิพากษาศาลปกครอง ยังไม่เกิดขึ้นทันที เพราะ กกต. ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางภายใน 30 วัน
ดังนั้น องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จึงเรียกร้องไปยัง กกต. ว่า กกต. ต้องไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว และแถลงยืนยันอย่างเป็นทางการ และเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจน และหาก กกต. เลือกที่จะออกระเบียบในการแนะนำตัวใหม่ ระเบียบที่ออกมาจะต้องไม่ขัดกับแนวทางที่ศาลปกครองวางไว้ ไม่จำกัดการรับรู้หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร สว. และ ต้องคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ