POLITICS

อ.นิติศาสตร์ จี้ ประยุทธ์-วิษณุ ขอโทษประชาชน ปมออก พ.ร.ก.เลื่อน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

อ.นิติศาสตร์ จี้ ‘พลเอกประยุทธ์-วิษณุ’ รับผิดชอบขอโทษประชาชน ปมออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

วันนี้ (25 พ.ค. 66) ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนา “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายทรมาน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลอย่างไร และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 มีการยกเลิกความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งระบุไว้ว่า ให้ พ.ร.บ.ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เลื่อนการบังคับใช้ใน 4 มาตรา จากวันที่ 22 ก.พ.66 เป็นวันที่ 1 ต.ค.66 ดังนี้

มาตรา 22 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย

มาตรา 23 ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

มาตรา 24 ญาติ ผู้แทน หรือทนายความ มีสิทธิร้องขอเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวต่อเจ้าหน้าที่

มาตรา 25 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบหรือศาลอาจไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว หากผู้นั้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายโดยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาล และการเปิดเผยดังกล่าวอาจละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

ทั้งนี้การออก พ.ร.บ.เป็นไปเพื่อป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ แต่ พ.ร.ก.กลับออกมากทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.การเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง

สำหรับผลทางการเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าส่วนราชการ โดยในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นนายกฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย

ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตในการออก พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่า เป็นเพราะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้หรือไม่ เพื่อที่จะโยนให้ผู้ยัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่รับผิดชอบหรือ เหตุใดนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายถึงไม่ตรวจสอบกฎหมายที่กระทบกับประชาชน ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน โดยระยะเวลา 9 ปี ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีการออก พ.ร.ก.มากที่สุด 31 ฉบับ คงเป็นความเคยชินคิดว่ารัฐบาลทำได้ ไม่กลัวสภาฯ เพราะมีเสียงข้างมาก

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มองว่ารัฐบาลอาจเทียบเคียง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กับการออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองครอบครัาว พ.ศ.2562 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่าเห็นชอบด้วยกฎหมาย แต่ความแตกต่างอยู่ที่ความในมาตรา 22-25 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ไม่เคยปรากฏในกฎหมายใดมาก่อน ทำให้สิทธิของประชาชนย่อมหายไป และอาจทำให้ไทยไม่สามารเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ขององค์การสหประชาชาติได้

สำหรับผลทางอาญา หากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วไม่ได้ถ่ายวิดีโอ ไม่ได้แจ้งนายอำเภอและอัยการ ไม่ได้บันทึกรายละเอียดการจับกุม ถือไม่มีความผิดทางอาญา เนื่องด้วยทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่มีเจตนาที่กระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย ส่วนคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้เสนอ พ.ร.ก.ต้องรับผิดทางอาญาด้วยหรือไม่นั้น รัฐบาลอาจมองว่าตนมีอำนาจ มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2562 กรณีการออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองครอบครัาว พ.ศ.2562 เป็นแบ็คอัพ จึงอาจไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต้องทำ คือการพิจาณาระเบียบรองรับเรื่องติดกล้องและบันทึกภาพ รวมทั้งการวางกรอบตีความกฎหมาย และการเยียวยาผู้เสียหาย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมลูนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การซ้อมทรมานและอุ้มหายเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่สามารถเอาผิดได้เนื่องจากผู้กระทำคือ เจ้าหน้าที่รัฐ จึงเกิดอนุสัญญาซ้อมทรมาน ซึ่งไทยเห็นด้วย ส่วนตัวแปลกใจที่มีการออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา โดย ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ทั้งยังเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยปรากฏเรื่องเช่นนี้มาก่อน ทั้งนี้การบันทึกภาพและเสียงในการตรวจค้น จับกุม มีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การที่อ้างว่าไม่ได้เตรียมการมาก่อนถือเป็นความเท็จ ย้ำว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจติดกล้องประจำตัว มีการใช้ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นเรื่องปกติ ทำให้เรื่องร้องเรียนน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย

นายสุรพงษ์ เสนอ 5 แนวทางที่รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบ ดังนี้

1.ต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมาย

2.ต้องสำนึกว่าสิ่งที่ทำไปผิดพลาด และจะไม่ทำอีก

3.ต้องลงโทษ รับโทษ รับผิด อาจจะเริ่มจากการขอโทษประชาชนเสียก่อน

4.ต้องมีกระบวนการเยียวยาให้ผู้เสียหาย

5.ต้องสร้างบรรทัดฐานว่า ต่อไปจะต้องไม่ออก พ.ร.ก.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีก

Related Posts

Send this to a friend