POLITICS

‘เครือข่ายสถานะบุคคล’ ยื่นหนังสือ ‘ปดิพัทธ์’ แก้ปัญหาผู้ไร้สัญชาติ

‘เครือข่ายสถานะบุคคล’ ยื่นหนังสือถึง ‘ปดิพัทธ์’ แก้ปัญหาผู้ไร้สัญชาติ รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน-จัดทำทะเบียนประวัติจำแนกกลุ่มบุคคล-คืนสิทธินักเรียนไร้สัญญาติ ‘พรรคก้าวไกล’ จ่อเสนอตั้ง คกก.วิสามัญแก้ปัญหา

วันนี้ (24 ส.ค. 66) เวลา14.00 น. ที่อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และคณะ รับยื่นหนังสือ จาก นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และคณะ 47 องค์กรเครือข่ายสถานะบุคคล จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก อุบลราชธานี ชุมพร และภาคตะวันตก เรื่อง ข้อเสนอการแก้ปัญหาสถานะบุคคล โดยเครือข่ายสถานะบุคคล (คสบ.) เป็นการรวมตัวกันขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาที่ทำงานด้านสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน คนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อส่งเสริมการจัดการปัญหาสถานะบุคคลและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภาคีเครือข่ายได้สรุปปัญหา ดังต่อไปนี้

1.เด็กนักเรียนรหัส G คือเด็กนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก มีจำนวน 112,851คน ซึ่งการจัดทำทะเบียนประวัติ และการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักให้เด็กนักเรียนรหัส G ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีการศึกษานั้นได้ ทำให้จำนวนนักเรียนรหัส G คงค้างในระบบ และสะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อเปิดการปีการศึกษาใหม่ ระบบก็จะปรับข้อมูลนักเรียนรหัส G ใหม่ สำนักทะเบียนก็จะยึดตามบัญชีรายชื่อใหม่ บัญชีรายชื่อเดิมไม่มีผลอีกต่อไป ทำให้นักเรียนตกหล่น และไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติเป็นจำนวนมาก และการย้ายหรือจบการศึกษาจากโรงเรียนเดิมไปโรงเรียนใหม่ ไม่มีระบบเชื่อมต่อข้อมูลให้สำนักทะเบียน ทำให้เด็กตัว G ไม่มีตัวตน ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับการศึกษาตามระบบ

2.คนไม่มีสถานะ หรือคนไร้สัญชาติ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลได้ รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล การประกอบอาชีพ ไม่มีใบอนุญาตใดๆทั้งสิ้น ชีวิตต้องอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัว จะถูกจับ ถูกดำเนินคดี ทำให้ต้องทำทุกวิถีทางที่จะเอาชีวิตรอดให้ปลอดภัย

3.สิทธิทางการศึกษาภิกษุสามเณร ไม่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ที่ไม่มีความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

จึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสถานะบุคคลจากพื้นที่ ดังนี้

1.ขอให้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน ที่มีปัญหาสถานะบุคคล โดยไม่เลือกว่าเป็นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด ให้มีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างมีเหตุผลและ มโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2.ขอให้รัฐมีนโยบายการจัดทำทะเบียนประวัติ โดยจำแนกกลุ่มบุคคล เป็นกลุ่มในการจัดทะเบียนประวัติ กำหนดเลขสำหรับกลุ่ม ลูกหลานแรงงาน ผู้ลี้ภัยในศูนย์อพยพ เด็กข้ามแดน และเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อป้องกัน ปัญหาการคัดแยกบุคคลแต่ละประเภท และนำไปสู่การกระทำความผิดและการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบ

3.ขอให้รัฐมีการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับเด็กนักเรียนรหัส G ต้องกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมือนกันทั้งประเทศ

4.ขอให้รัฐทบทวนเรื่องโครงสร้าง ระบบการบริหาร และงบประมาณ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ล่าช้า และทำให้เป็นช่องโหว่ของการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

5.ขอให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้สามเณรในระดับประถมศึกษา โดยแก้ไขระเบียบการจัดการศึกษาของโรงเรียนในพระปริย์ติธรรม และหาแนวทางการจัดการศึกษาก่อนการแก้ไขระเบียบกฎหมาย

ด้าน นายเล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาของเด็กไร้สัญชาติมีปัญหา 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรอพิสูจน์สัญชาติ จำนวนประมาณ 100,000 คน และเด็กที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ประมาณ 200,000 คน พรรคก้าวไกลจะยื่นญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ตนในฐานะผู้แทนของประธานรัฐสภา จะนำเรื่องดังกล่าวมาทำการศึกษาให้ละเอียด รอบคอบ และจะเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา สถานะบุคคล ต่อไป หากมีความคืบหน้าเป็นประการใด จะได้แจ้งให้ทางเครือข่ายทราบต่อไป

Related Posts

Send this to a friend