POLITICS

รองปลัดยุติธรรม ยัน ‘ทักษิณ’ ยังอยู่ รพ.ตำรวจ ยังไม่ส่งตัวไป รพ.เอกชน

รองปลัดยุติธรรม ยัน ‘ทักษิณ’ ยังอยู่ รพ.ตำรวจ ยังไม่ส่งตัวไป รพ.เอกชน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมเข้ม ส่วนภาพการรักษาเผยแพร่ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ต้องขัง เชื่อ รพ.ตำรวจมีศักยภาพรักษาได้

วันนี้ (24 ส.ค. 66) ที่กระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาพฤตินิสัย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการย้ายตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเข้ามาเกี่ยวกับการย้ายโรงพยาบาล แต่ยืนยันยังอยู่ รพ.ตำรวจ ไม่มีการส่งตัวออกไป รพ.เอกชนแต่อย่างใด ส่วนตัวมั่นใจว่า รพ.ตำรวจ มีศักยภาพในการดูแลรักษาได้ โดยกรมราชทัณฑ์ได้ติดตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เพราะนายทักษิณ ยังอยู่ในการควบคุมของเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเผยแพร่ภาพของนายทักษิณ ขณะรับการรักษาได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครอง ส่วนการรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 4 นาย คอยคุ้มกันอยู่นอกห้องพักรักษาตัว

ส่วนกรณีที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่า อาการป่วยของนายทักษิณ ทรุดลงหลังจากเข้าเรือนจำ นายสหการณ์ ชี้แจงว่า หากจินตนาการว่าต้องเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกจำกัดสิทธิ จากที่เคยกินอยู่สุขสบาย ก็อาจส่งผลให้ร่างกายมีปัญหาได้ ขณะนี้ยังไม่ได้ส่งจิตแพทย์เข้าไปดูแลอาการนายทักษิณ แต่แพทย์ได้รักษาอาการเจ็บป่วยตามประวัติการรักษาจากต่างประเทศ

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล ต้องเป็นไปตามที่เรือนจำกำหนด คือ ญาติที่สืบสายเลือด และครอบครัวเข้าเยี่ยมได้ไม่เกิน 10 คน โดยไม่ให้เข้าเยี่ยมใน 5 วันแรก และต้องแจ้งความจำนงมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนปฏิบัติตามกติกาโรงพยาบาล คือเข้าเยี่ยมระหว่างเวลา 11.00-13.00 น. และ 17.00-19.00 น.ในวันปกติ หากอยู่โรงพยาบาลเกิน 5 วัน และมีบุคคลสำคัญนอกเหนือจากญาติ เช่น นักการทูต ต้องสอบถามตัวผู้ป่วยเองว่าอยากให้บุคคลนั้น เข้าพบหรือไม่

สำหรับการติดต่อสื่อสารใดๆ นายทักษิณต้องดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ และให้แจ้งผ่านญาติ ทั้งนี้ นับแต่วันคุมขัง นายทักษิณยังไม่แจ้งความประสงค์ใด โดยตนได้พบเห็นเจ้าตัวครั้งล่าสุดในวันรับตัวเข้าเรือนจำ สวมเสื้อเชิ้ตขาวกางเกงสแลคสีกรมท่า และยังไม่ได้เปลี่ยนชุด

นายสหการณ์ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีนักโทษที่เป็นผู้ป่วยอาการวิกฤต เรือนจำทั่วประเทศได้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายระดับอำเภอ จังหวัด หรือภูมิภาค รวมถึงโรงพยาบาลตำรวจที่มีศักยภาพการรักษามาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ได้เป็นบุคคลมีชื่อเสียงจึงไม่ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ และ รพ.ตำรวจ มีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ที่ให้ส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา หาก รพ.ราชทัณฑ์ ไม่สามารถทำการรักษาได้ เพราะถือเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ให้ได้ โดยจะมีแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยการส่งตัว ร่วมกับราชทัณฑ์ ญาติไม่สามารถร้องขอให้ไปรักษาที่ รพ.ใดเองก็ได้

อย่างไรก็ตาม ตนเองเข้าใจว่ามีประเด็นคำถามมากมาย แต่กระทรวงยุติธรรมจะพิสูจน์ให้เห็นว่า กรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามระเบียบกติกา และกฎหมาย เชื่อว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่เอื้อปฏิบัติกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สังคมก็น่าจะยอมรับได้

Related Posts

Send this to a friend