POLITICS

โรม – เพนกวิน – อดิศร ร่วมอภิปราย “91 ปี ประชาธิปไตยไทยฯ”

ชี้ ควรรื้อฟื้น หาที่อยู่ เพื่อรักษามรดกคณะราษฎรที่ทำให้มีวันนี้

วันนี้ (24 มิ.ย. 66) เวลา 13:45 น. ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และชมรมโดมรวมใจ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานอภิปรายในหัวข้อ “91 ปี ประชาธิปไตยไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” โดยมีผู้อภิปราย ได้แก่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, อดิศร เพียงเกษ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร และ อ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

อดิศร กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2475 ผ่านมาแล้ว 91 ปี คณะราษฎร ต้องการให้อำนาจเป็นของราษฎร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ แต่ปัจจุบันนี้ กลับเป็นตรงกันข้าม เนื่องจากเลือกตั้งเสร็จแต่ไม่ยอมเสร็จ เพราะมีการลากตั้งขวางอยู่ มีวุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการถอยหลังไปไกลกว่าเมื่อปี 2475 จึงทำให้เห็นว่าคณะราษฎรที่ทำมา 91 ปี ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

อดิศร มองว่า เป็นเรื่องปกติที่จะมีความเห็นแตกต่าง ซึ่งสิ่งที่พูดไปพูดด้วยความสุจริต ถึงจะโดนทัวร์ลงบ้าง ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา โดยเชื่อว่า ประเทศไทย อำนาจยังไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเพราะการรัฐประหารก็พร้อมที่จะเกิดได้ทุกเมื่อ แต่ส่วนตัวก็ชมเชยว่าความพยายามของคนรุ่นใหม่ การเมืองใหม่ ทำในสิ่งที่พวกตนเคยพูดไว้เมื่อ 50 ปีก่อน คือการทำให้ทุกฝ่ายทุกองค์กรได้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องปรับตัวเองไม่เช่นนั้นสังคมจะไม่อนุญาตให้อยู่ และจะอยู่ไม่ได้

“91ปี มีเหตุการณ์ที่ทุกคนจงใจลืม ลืมคณะราษฎร ต่อไปทุกสิ่งที่อย่างที่เกี่ยวกับคณะราษฎรจะไม่เหลือเลย มันเป็นเสนียดจัญไรในสายตาเขา การต่อสู้ยังอยู่ แต่ต้องต่อสู้ในกฎกติกาของเขา ประชาธิปไตยผ่านไป 91 ปี ควรที่จะรุ่งโรจน์กว่านี้” อดิศรกล่าว

อดิศร ยังระบุว่า ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรต้องการ ตอนนี้ยังไม่ได้ และยังไม่ใช่ของราษฎร มันไปพักอยู่แถวราบ 11 ซึ่งตนรู้สึกเสียดายที่คณะราษฎร เสียสละชีวิตไป แต่ประเทศกลับไม่ได้อะไรเลย

ในช่วงท้าย อดิศร กล่าวว่า ตนอยากหาที่อยู่ให้คณะราษฎร เพราะวันนี้ถ้าไม่มีคณะราษฎรก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และรักษามรดกของคณะราษฎร เพราะเขากล้าหาญที่ให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และสมควรที่จะยกย่องในสิ่งที่เขาทำเพื่อช่วยชาติบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ซึ่งตนไม่อยากให้ประชาธิปไตยไปทำลายสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ โดยอย่างน้อยเรามีภาระหน้าที่ว่าจะต้องเอาอนุสาวรีย์ปราบกบฏกลับคืนมาให้ได้ หรือควรเอาไว้ที่สภาใหม่ เพื่อเป็นการหาที่อยู่ให้กับบรรพบุรุษของเรา

ด้าน รังสิมันต์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่เรามาเฉลิมฉลอง เราต้องการเปลี่ยนการเฉลิมฉลอง ให้เป็นวันที่จดจำ ให้เป็นวันที่สำคัญ และเห็นคุณค่าจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายที่การเฉลิมฉลองดังกล่าว ถูกบ่อนเซาะทำลายลงไปในหลายๆ ครั้ง ถึงแม้อาจจะมีการรื้อฟื้นเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังห่างไกลต่อการสร้างความจดจำ ที่จะทำให้เป็นวันที่มีความสำคัญ และเป็นวันชาติจริงๆ

รังสิมันต์กล่าวว่า ได้เห็นแล้วว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันยากจริงๆ การต่อสู้ที่ยากแบบนี้จะทำให้เรานึกอยู่ในหัวใจว่าประชาธิปไตยมีความหมายสำหรับพวกเรามากขนาดไหน และคือความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ 91 ปีที่เรายังไม่ถึงฝั่งฝัน แต่มันทำให้เรารู้ว่าประชาธิปไตยนั้นมีความหมายต่อสิทธิในการพูด และการแสดงออกของตัวเราในฐานะที่เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด

พร้อมกันนี้ รังสิมันต์ ยังกล่าวว่า หวังว่า 24 มิถุนายนของทุกปีหลังจากนี้ไป จะเป็นวันชาติที่เราเฉลิมฉลอง และเราจะสัญญาว่าเราจะไม่กลับถอยหลังไปสู่ยุคเผด็จการ ยุคที่ประชาชนไม่เป็นผู้ที่มีสูงสุดผู้อำนาจสูงสุดอีกต่อไป

รังสิมันต์ ระบุต่อว่า บทเรียนกว่า 91 ปีที่ผ่านมานั้นนำไปสู่ 3 คำถามที่จะนำพาให้สู่ความปกติของสังคม คือ 1. เราจะทำอย่างไรในระยะสั้นที่สุดที่จะถึงนี้ให้มีรัฐบาลที่มีกระบวนการทำงานในสภา และสะท้อนต่อเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมให้มากที่สุด 2. เราจะมีรัฐธรรมนูญที่ออกจากมรดกที่เป็นซากของ คสช. ได้อย่างไร 3. เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไม่กลับไปเผชิญกับการรัฐประหารอีก

รังสิมันต์ ย้ำว่า ตนเชื่อมั่นว่าในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม ที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน และมันถูกพิสูจน์แล้วว่าความพยายาม ในการหยุดรั้งเจตจำนงของประชาชนมันไม่มีทางสำเร็จ

“ถ้ารอบนี้มีการพยายามในการเตะตัดขาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม ผมมั่นใจเลยว่ารอบหน้าพรรคก้าวไกลเราได้เกิน 20 ล้านเสียงอย่างแน่นอน” รังสิมันต์ กล่าว

ขณะที่ พริษฐ์ กล่าวว่า ชาติคือประชาชนทุกเพศทุกวัยทุกหมู่เหล่า ประชาธิปไตยเป็นของคนทุกรุ่น ที่ทุกคนจะต้องพูดคุยกันเพราะอยู่ในสังคมเดียวกัน รวมทั้งประชาธิปไตยเป็นของคนทุกคน และกับคนที่เห็นต่างทางการเมืองด้วย และจะไม่มีการขับไล่ใครออกนอกประเทศ ไม่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง หรือทำร้ายกัน เพราะประเทศเป็นของทุกคน ซึ่งควรที่จะรื้อฟื้นหาที่อยู่ให้คณะราษฎร ที่นับหนึ่งทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ส่วน อ.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิ.ย. 2475 เพราะมีการให้อำนาจของประชาชนผ่านตัวแทนองค์กรต่างๆ แต่รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มากลับลดทอนไม่ให้ประชาชนอยู่ในแผนภาพนี้ต่อไป 91 ปีผ่านไป เรามีการปฏิวัติรัฐประหาร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มี 3 ครั้งที่ส่งผลต่อชีวิตของเรา คือ 24 มิถุนายน 2475, 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ที่เปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทยไปอย่างไม่มีใครคาดคิด

อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญที่สุด คือการ เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นพลังของประชาชนที่บอกกับรัฐประหาร และระบอบเก่าที่ผ่านมาว่า ประชาชนจะไม่ยอมทนกับการตายบนท้องถนนอีกต่อไป และรู้ว่าอำนาจจะอยู่กับบัตรเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าเราจะเคยโดนดูถูกดูแคลนว่าไม่มีความรู้เรื่องประธิปไตย แต่จริงๆ แล้วมันถูกฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ

Related Posts

Send this to a friend