บช.น. แถลงเตรียมกำลังพล พร้อมรับมือม็อบวันนี้ แนะ ประชาชน เลี่ยงเส้นทางในจุดที่มีการชุมนุม
ย้ำเตือนข้อกฎหมาย ชี้ การชุมนุมที่ขอหน่วยงานรัฐอื่น ไม่ต้องขออนุญาต เว้นแต่มีการเคลื่อนย้ายจุดต้องแจ้งเจ้าหน้าที่
วันนี้ (23 ส.ค. 65) เวลา 10:30 น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวกับสื่อมวลชน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลความสงบเรียบร้อยของกลุ่มการชุมนุม รวมถึงการแนะนำหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง
พล.ต.ต.จิรสันต์ ระบุว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ได้แบ่งกำลังในการดูแลการชุมนุมจากหลายกลุ่มด้วยกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
1) กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เวลา 09:30 น. หน้าทำเนียบรัฐบาล
2) บริเวณรัฐสภาเกียกกาย คือ กลุ่มเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายใต้มูฟออน และกลุ่มแนวร่วม เวลา 10:00 น.
3) บริเวณลานเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กลุ่มคณะหลอมรวมประชาชน และกลุ่มราษฎรคนเสื้อแดง ในเวลา 16:00 น.
4) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มเพื่อนกัญปฏิวัติ, กลุ่ม 14ขุนพลคนราษฎร, กลุ่มแนวร่วม และ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เจ้าหน้าที่มีการจับตามองคือทะลุแก๊ส เวลา 17.00 น
พร้อมขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางบริเวณจุดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่การชุมนุม อาทิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, แยกดินแดง ฯลฯ
กองบัญชาการตำรวจนครบาล ย้ำเตือน 3ประเด็น ได้แก่
- การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ยังถือเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ถึงแม้การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธจะกระทำได้ แต่ผู้จัด และผู้ชุมนุมก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการจัด และการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
- กรณีการชุมนุมไปทำการชุมนุมในพื้นที่หน่วยงานของรัฐที่จัดให้เป็นสถานที่สำหรับการชุมนุม ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งการชุมนุมก็ตาม แต่การที่จะเดินขบวน หรือเตรียมย้ายการชุมนุม ก็ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฎิบัติตามมาตราการในการอำนวยความสะดวกประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ยุติ ระงับ หรือยับยั้งการชุมนุมได้
หากมีการฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การดำเนินการทางกฎหมาย ตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 จนถึงปัจจุบันมี คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 848 คดี ขณะนี้ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้องไปแล้ว 497 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน 351 คดี
กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังได้ฝากข้อห่วงใย และย้ำเตือนผู้ที่คิดก่อเหตุความไม่สงบ และผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย ว่าหากมีการก่อเหตุสร้างความเสียหายสร้างความเดือดร้อนในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไป ดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าวทุกราย ถึงแม้การชุมนุมโดยสงบและ ปราศจากอาวุธจะกระทำได้ แต่ผู้จัดและผู้ชุมนุมฯก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการจัด และการแจ้งการชุมนุมฯ ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ