POLITICS

โฆษกรัฐบาล​ แจง​หลังเสียงวิจารณ์​โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเงินเข้ากระเป๋าเจ้าสัว​​

โฆษกรัฐบาล​ แจง​หลังเสียงวิจารณ์​โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเงินเข้ากระเป๋าเจ้าสัว​ ชี้ เทียบไม่ติด​กับ จำนวนร้านค้าลงทะเบียนคนละครึ่ง ยัน​ รัฐบาลไม่ตั้งข้อรังเกียจกลุ่มธุรกิจเติบโตบนระบบถูกต้อง​ และยอมเสียภาษี​

วันนี้ (23 เม.ย. 67) นายชัย​ วัชรงค์​ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้มีการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ภายหลังจากที่มีการประชุมหารือไปหลายรอบสุดท้ายได้ข้อสรุปเป็นหลักการ ของโครงการเงื่อนไขผู้ที่ได้รับ 50 ล้านคน​ อายุ 16 ปีขึ้นไป​ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 840,000 บาท​ มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องมีการลงทะเบียนผ่าน Application บน Smartphone

ส่วนการใช้จ่าย​ จะใช้จ่ายในเขตอำเภอตามทะเบียนบ้าน และใช้ในร้านค้าปลีกขนาดเล็ก โดยรายละเอียดกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้กำหนดว่าร้านค้าขนาดเล็กหมายถึงร้านใดบ้าง และประชาชนมือ​ 1 มีกรอบเวลาในการใช้จ่ายเงิน​ 10,000 บาทภายใน 6 เดือน​ เพื่อให้จบในโครงการ​ ขณะที่ร้านค้ามือที่ 1 ที่ขายของให้ประชาชนที่นำเงินดิจิทัลไปใช้ ร้านค้ากลุ่มนี้จะเป็นร้านอะไรก็ได้​ แม้กระทั่งหาบเร่​ แผงลอย​ ก็สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์เป็นร้านค้าได้ แต่เมื่อขายของแล้ว​ ได้เงินดิจิทัลมาแล้ว​ ยังไม่สามารถนำไปขึ้นเป็นเงินได้​ โดยจะต้องนำไปใช้ต่อเป็นรอบที่ 2 ซึ่งร้านค้าที่ขายให้ประชาชนมือ 1 ที่ผ่านมาแล้ว จะนำไปซื้อของต่อที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเขตอำเภอ สามารถซื้อ​ ข้ามเขตจังหวัดได้ และผู้ที่จะขึ้นเงินได้จะต้องเป็นเงินดิจิทัลที่ผ่านการใช้ 2 รอบมาแล้ว​เป็นขั้นต่ำ และร้านค้านั้นๆ จะต้องอยู่ในระบบภาษีของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม​ ภาษีนิติบุคคล​ หรือภาษีบุคคลธรรมดา​ ตามมาตรา 40 (8)​ ของประมวลรัษฎากร ซึ่งสินค้าที่ยกเว้น​ ไม่สามารถซื้อได้​ เช่น​ สินค้าบริการ​ เชื้อเพลิง​ อบายมุข​ สลากกินแบ่ง​รัฐบาล​ เครื่องประดับ โดยจะต้องเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่​ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ปีนี้​ และจะเริ่มใช้ได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ซึ่งคากว่าเม็ดเงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาทจะมาจากงบประมาณทั้งหมด โดยเป็นงบประมาณปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท งบประมาณปี 2568​ วงเงิน​ 157,200 ล้านบาท และงบประมาณที่มาจากการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐเช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร​ ธ.ก.ส. อีก 172,300 ล้านบาท ส่วนร้านค้าจะกำหนดเวลาให้แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง แต่ระยะเวลาการดำเนินโครงการโครงการแลกเงินคืนทั้งหมดไม่เกินกันยายน 2569

กระทรวงการคลังในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ประโยชน์ที่จะได้ในโครงการนี้ปีงบประมาณ 2568 จะสามารถกระตุ้น GDP ได้ 1.2 -​ 1.8% ประโยชน์ของโครงการนี้จะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆโครงการในอดีตที่ผ่านมา ผลของการกระตุ้นไม่ได้จบเพียงปีเดียว ในทางเศรษฐกิจนักวิชาการกระทรวงการคลัง​ ได้จับตัวเลขมาโดยตลอดว่า แนวโน้มของการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ครอบคลุม 3-4 ปี ไม่ใช่ปีแรก 1.2 ถึง 1.8 แล้วจบปีที่ 2 ถึงปีที่ 3 ก็จะยังมีการเติบโต ซึ่งตนเองได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญ​ ทางด้านเศรษฐกิจการคลังมาแล้วว่า การกระตุ้นเที่ยวนี้​ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต​ ซึ่งกำกับควบคุมว่าจะต้องใช้กับการซื้อสินค้าที่มีผลต่อ GDP สูง จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 3.2 -​ 3.5 รอบ หรือ Money Multiplier แต่จะก่อให้เกิดตัวทวีคูณทางการคลังจะเกิดขึ้นประมาณ 1.2 -​ 1.4 เท่าของเม็ดเงิน 5 แสนล้านที่ใส่ไป​ นั่นหมายถึง​ 650,000 ล้านบาท​ ซึ่งจะเป็นตัวเลข GDP ที่จะโตใน 3 ปี

นายชัย​ ยังระบุอีกว่า​ในส่วนนี้ไม่ได้มีการพูดประชุมในที่ประชุม ครม. แต่จากการที่ตนเองได้ไปศึกษาข้อมูลถึงข้อห่วงใย และมีข้อครหาว่าโครงการนี้ถูกออกแบบมาและจะทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าเจ้าสัว และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นนั้น จากการตรวจสอบร้านสะดวกซื้อปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14,500 สาขา ซึ่งมีเพียงครึ่งหนึ่ง ที่เป็นของบริษัทเอกชน (บริษัท​ ซีพีออลล์)​ โดยตรง แต่ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ และเมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าย่อย จากการลงตัวเลขในโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา กระทรวงการคลังรายงานเมื่อวานนี้ (22 เม.ย. 67) ว่า มีตัวเลขร้านค้าลงทะเบียน 1.2 ล้านร้าน​ ซึ่งทางกระทรวงการคลังคาดว่าร้านค้าเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เพราะฉะนั้นที่ประชาชนจะนำเงินดิจิทัลไปใช้ได้รอบแรกจะมีประมาณ​ 1.2 ล้านร้าน​

ส่วนที่มีข้อกังวลว่าจะผูกขาดร้านสะดวกซื้อนั้น ขอให้เปรียบเทียบดู ร้านค้าสองแสนกับหมื่นกว่า มันไกลกันเยอะ เพราะฉะนั้นโอกาสที่ประชาชนจะไปใช้จ่าย ไม่เข้ากระเป๋าของเจ้าสัวมีสูง​ และหากมองในแง่ของการใช้จ่าย ร้านค้าปลีกทั้งประเทศ ปีหนึ่งจะมียอดการใช้จ่าย 4.1 ล้านล้านบาท แต่ร้านสะดวกซื้อที่มีคนพยายามจะให้ข้อมูลเพื่อให้เข้าใจผิดกัน ปีหนึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย​เพียง 3.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ 4.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นในข้อเท็จจริง ไม่เป็นไปอย่างที่กังวลใจ

นายชัย​ ยังระบุอีกว่า​ไม่ว่าประชาชนจะไปซื้อในร้านของใครก็ตาม​ ร้านนั้นจะเป็นบริษัทเป็นแฟรนไชส์ หรือโมเดิร์นเทรดขนาดเล็ก ซื้อ 100 บาท อย่างน้อยคนที่ขายของ​ ต้องนำเงิน 60-70 บาท ไปซื้อสินค้าใหม่เนื่องจากเป็นห่วงโซ่​ ไม่ว่าจะเป็นร้านใดก็ย่อมมีการนำเงินมาหมุนเช่นกัน เพื่อนำสินค้ามาขายใหม่​ จะเก็บเข้ากระเป๋าทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้ว

นายชัยยังระบุด้วยว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจ​ ว่าเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ​ ไม่ควรเข้ากระเป๋าใคร​ หรืออย่างไร​ เราไม่ได้มองอย่างนั้น รัฐบาลมองว่า ถ้าเม็ดเงินนี้ผ่านมือประชาชนไปแล้ว เอาไปใช้จริง ร่วมกันใช้อย่างเต็มที่ ผ่านกลไกทางด้านการค้า และในที่สุดเงื่อนไขการเบิกเงินก็ต้องเป็นผู้เล่นที่เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี จึงจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ พร้อมยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะตั้งเงื่อนไข​ กีดกันใครก็ตามที่ทำมาหากินแล้วประสบความสำเร็จ​ เติบโตขึ้นมาบนระบบที่ถูกต้อง​ ยอมเสียภาษี​ และวันหนึ่งจะมาถูกตั้งข้อรังเกียจว่าคุณหมดสิทธิ์เราจะไม่ทำอย่างนั้น

นายชัย​ ยังกล่าวว่า​วันนี้มติ ครม.เห็นชอบในหลักการทั้งหมด​ ที่คณะกรรมการฯ เสนอมา แต่คำว่าเห็นชอบในที่นี้​ คือเห็นชอบในตัวหลักการ แต่เวลาปฏิบัติจากนี้ไปทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง กระทรวงการคลัง​ กระทรวงพาณิชย์​ จะต้องไปทำรายละเอียด โดยมีการคำนวณไทม์ไลน์​แล้วว่าจะทันในการลงทะเบียนในไตรมาส​ 3 อย่างแน่นอน​ การจ่ายเงินการโอนรัฐบาลจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแน่นอน​ ทั้งกฎหมายการเงิน​ การทำโครงการใดก็ตามจะต้องมีเม็ดเงินที่เรียกว่า เม็ดเงินครบเต็มจำนวน การจะใช้เงินตามมาตรา 28 รัฐบาลจะมีการสอบทานอย่างถูกต้อง เช่นประเด็นธนาคาร ธ.ก.ส.​ นายกรัฐมนตรีสั่งในที่ประชุมว่าให้ทำเรื่องเป็นทางการประเด็นไหนให้ถามกฤษฎีกาให้กฤษฎีกาตอบอย่างเป็นทางการให้ชัดเจนและรัฐบาลจะทำให้โปร่งใสให้สิ้นข้อสงสัย

Related Posts

Send this to a friend