POLITICS

‘ชัยธวัช’ เผย ‘สส.ก้าวไกล’ ไม่เห็นชอบ ‘เศรษฐา’

‘ชัยธวัช’ เผย ‘สส.ก้าวไกล’ ไม่เห็นชอบ ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ เหตุตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เป็นการต่อลมหายใจให้ คสช. มอง ประชาชนมีราคาที่ต้องจ่ายเป็น ‘ความหวัง – อำนาจ – ศรัทธา’

วันนี้ (22 ส.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน หลังได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงนายกฯ ว่า ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ไม่สามารถเห็นชอบได้ เหตุผลไม่ใช่เพราะไม่รู้จัก หรือไม่มีข้อมูลอย่างที่ สว.อภิปรายไป มองว่า ก่อนการเลือกตั้ง ทุกคนคงได้ใช้สิทธิ์ ในการติดตามข่าวสารทางด้านการเมืองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“เหตุผลที่ สส.ของพรรคก้าวไกล ไม่สามารถโหวตเห็นชอบได้นั้น เพราะเราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการจัดรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกไปแล้วอย่างตรงไปตรงมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลและระบบการเมืองที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐประหารของ คสช.” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า การจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ แต่เป็นการต่อลมหายใจให้กับ คสช. ดำเนินการสืบต่อไป ไม่ใช่การสลายขั้วทางการเมือง หรือจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประชาชนและวาระของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่อยากชวนตั้งคำถามว่า อะไรคือราคาที่ประชาชนต้องจ่ายบ้างในการตั้งรัฐบาลพิเศษแบบนี้ ตนเองเห็นว่าราคาที่ประชาชนต้องจ่ายคือความหวัง จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาหวังว่าจะหยุดอำนาจ คสช. หวังว่าการเมืองของไทยจะไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินสู่อดีตแบบนี้

นายชัยธวัช กล่าวต่ออีกว่าราคาที่ต้องจ่ายคือ อำนาจ เพราะประชาชนเชื่อว่าอำนาจสูงสุด คืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อออกไปใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ปรากฏว่าการจัดตั้งรัฐบาล กลับกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ให้ประชาชนเลือกตั้งพอเป็นพิธี แต่ไม่ได้ให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งคือราคาที่ประชาชนต้องจ่าย และประชาชนเพิ่งค้นพบว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทย กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายคือ ความศรัทธา การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษทำให้สูญเสียความศรัทธาของประชาชนในระบบรัฐสภาและเมื่อไหร่ที่ประชาชนหมดศรัทธาต่อการเมือง ย่อมเป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองในอนาคต

“ผมอยากฝากความหวังดีไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่า หัวใจของปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษมี่ผ่านมา คือการปะทะขัดแย้งกันระหว่างอำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาจากอำนาจของประชาชน วันนี้เรายังหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ เราเห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเผิน ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ทางออกที่พวกเราต้องช่วยกันแสวงหา คือ ระบบการเมืองที่จะกลายเป็นฉันทามติใหม่โดยวางอยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญที่ว่าอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน”

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า แล้วเมื่อไหร่ที่เรายังสยบยอมหรือต่อลมหายใจให้กับระบบที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย แต่ตอบไม่ได้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหน ไม่เคารพอำนาจของประชาชน ในระบบนี้เราจะไม่มีวันหาทางออก หรือสลายความขัดแย้งได้ เมื่อประชาชนหมดศรัทธากับเรา เราเองไม่อยากเห็นอนาคตแบบนี้ และประชาชนนับล้านคนกำลังผิดหวัง โกรธ คับข้องใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“การเลือกตั้งที่ผ่านมา สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นแม้ว่าประชาชนจะไม่พอใจ แต่ขออย่าหันหลังให้กับการเมือง เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และเปลี่ยนแปลงมันให้ได้ ทำให้การเมืองของเราระบอบประชาธิปไตยของเรา เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ และทำให้อำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของประชาชนโดยแท้จริง” นายชัยธวัช กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend