POLITICS

‘วราวุธ’ ยอมรับทำ NRM ต้องใช้เวลา เพราะผู้เสียหายกลุ่มใหญ่

‘วราวุธ’ เผยไม่เลือกปฏิบัติดูแลเหยื่อค้ามนุษย์เล้าก์ก่าย ให้ความเป็นธรรมทุกคน รับทำ NRM ต้องใช้เวลา เพราะผู้เสียหายเป็นกลุ่มใหญ่ รายละเอียดเยอะ

วันนี้ (21 พ.ย. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยที่กลับจากเล้าก์ก่ายว่า ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง และคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ จากข้อมูลพบว่าคนไทยในเล้าก์ก่าย 266 ราย ได้รับการช่วยเหลือและผ่านการคัดกรองแล้ว 260 ราย ส่วนอีก 6 รายตรวจสอบพบว่ามีหมายจับ จึงคุมตัวไว้ที่สนามบิน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดย ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน กระทรวง พม.ได้ทำงานอย่างเข้มข้นในการตรวจสอบและคัดกรองว่ากลุ่มนี้จะเข้ากระบวนการ NRM หรือไม่ หากเข้าข่ายค้ามนุษย์ก็จะต้องดึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน

ส่วนกรณีที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ไปทำงานที่เล้าก์ก่ายโดยไม่สมัครใจ กระทรวง พม.จะส่งทีมสหวิชาชีพเข้าไปดูแล โดยทั้งนักจิตวิทยา และนักสังคมเคราะห์ จะให้การสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่พูดถึงถูกหรือผิด แต่ถ้าได้รับผลกระทบหรือลี้ภัยเข้ามา กระทรวง พม.จะดูแลทั้งหมด

นายวราวุธ ยังกล่าวถึงกรณีที่คนไทยในเล้าก์ก่ายกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและอาจถูกดำเนินคดีว่า การดำเนินคดีจะดูตามข้อเท็จจริง หากไปโดยสมยอม หรือถูกบังคับก็จะต้องช่วยเหลือเยียวยา แต่หากสืบสวนแล้วพบว่ามีคดีติดตัวเช่นเดียวกันกับ 6 รายที่ถูกจับกุมที่สนามบิน ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ขอให้ความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวง พม.จะดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการต่าง ๆ ให้ ทั้งนี้กฎหมายก็คือกฎหมาย หากสืบสวนแล้วมีข้อสงสัยตอบได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าตอบไม่ได้ก็คงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ

สำหรับกระบวนการ NRM ของคนไทยในเล้าก์ก่าย 200 กว่ารายนี้ การสืบข้อมูลและอ่านข้อมูลแต่ละรายมีความซับซ้อน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีฐานข้อมูลของหลายหน่วยงาน จึงต้องใช้เวลา

ส่วนกรณีที่สถานการณ์ในเมียนมารุนแรงมากขึ้น อาจทำให้มีผู้ลี้ภัยต่างด้าวเข้ามาในไทย และอาจจะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ทางการไทยจะนำบุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการ NRM หรือไม่นั้น นายวราวุธ ระบุว่า เราจะดูแลสิทธิมนุษยชนและสวัสดิภาพขั้นพื้นฐาน ส่วนขั้นตอนการนำเข้าสู่ NRM ขอไปศึกษาก่อน เพราะเพิ่งมารับตำแหน่ง ยังไม่มีข้อมูลในมือ ส่วนจะส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับประเทศต้นทางหรือประเทศที่ 3 กระทรวง พม.ไม่มีสิทธิตัดสินเรื่องนี้คนเดียว ต้องหารือร่วมกับกระทรวงต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อประสานกับประเทศต่าง ๆ ถึงแนวทางการดำเนินการ

“ขอสื่อสารไปถึงสังคมว่าคนที่ถูกบังคับไปทำงานมีเหตุจำเป็น เข้าใจผู้ที่ถูกหลอก คงต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา คนที่โดนหลอกทรัพย์สินก็หายไป ขณะที่คนที่ถูกบังคับก็มีเหตุจำเป็นบางอย่างที่ทำให้เขาต้องทำแบบนั้น คงโทษใครไม่ได้ ถ้าจะดำเนินการต้องศึกษาไปถึงต้นต่อ และดำเนินคดีจนถึงที่สุด” นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend