ทนายกฤษฎางค์ เผย เอกสารการกู้ชีพเวชระเบียนจาก รพ.ธรรมศาสตร์ กับ รพ.ราชทัณฑ์ ไม่ตรงกัน
ทนายกฤษฎางค์ เผย ’เสรีพิศุทธ์‘ ถอนฟ้อง ‘บุ้ง เนติพร’ หลังเสียชีวิต ชี้ เอกสารการกู้ชีพเวชระเบียนจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กับ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่ตรงกัน พร้อมตั้งข้อสังเกต ช่วงเวลาที่ควรทำ CPR เพื่อยื้อชีวิต แต่กลับไปทำ CTscan จี้ ’ราชทัณฑ์‘ ส่งเอกสารเพิ่มเติมทั้งหมดให้ทนายความ
วันนี้ (21 พ.ค. 67) เวลา 15:00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อแจ้งการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ในคดีอาญาที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ฟ้องหมิ่นประมาท น.ส.เนติพร พร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน 2 ล้านบาท ระบุว่า ตนเองมาถึง เพิ่งจะทราบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ถอนฟ้องในทุกข้อหากับบุ้งทั้งหมดแล้วไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม หลังจากที่บุ้งเสียชีวิตเพียง 1 วัน โดยทนายความของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เขียนคำร้องว่าไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดี ทำให้คดีถึงที่สิ้นสุด
ส่วนเรื่องเอกสารการรักษา น.ส.เนติพร ที่ได้รับจากกรมราชทัณฑ์ ที่ไปรับมาเมื่อวานนี้ (20 พ.ค. 67) นายกฤษฎางค์ เปิดเผยว่า จากเอกสารจำนวน 26 แผ่น ตนเอง และครอบครัวของบุ้ง รู้สึกเคลือบแคลงใจ และตั้งข้อสงสัยถึงเอกสารดังกล่าว และได้นำเอกสารดังกล่าวไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช และแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมองว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงเอกสารบางส่วนหรือไม่ และที่สำคัญ เวลาการรายงานผลการช่วยชีวิตไม่ตรงกับเวชระเบียนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ซึ่งเอกสารจากเวชระเบียน ระบุว่า วันที่ 14 พ.ค. 67 เวลา 06:15 น. ผู้ป่วยมีอาการเกร็ง ตาเหลือก เรียกไม่รู้สึกตัว และเริ่มทำการกู้ชีพ (CPR) ในเวลา 06:23 น. แต่จากแบบบันทึกการกู้ชีพ ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลับ ระบุว่า เริ่มทำการกู้ชีพ เวลา 06:28 น.
อีกทั้ง มีการย้ายผู้ป่วยออกจากห้องพักผู้ป่วย ชั้น 2 ไปยัง ICU ที่อยู่ชั้น 1 โดยใช้อาสาสมัครเรือนจำช่วยในการเคลื่อนย้ายจำนวน 4 คน จากเอกสารทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าตลอดระยะเวลา 06:15 – 06:28 น. มีการติดเครื่องติดตามสัญญาณชีพ แต่ในเอกสารกลับมีการระบุว่า มีการทำเอ็กชเรย์ปอด (ไม่ระบุเวลาทำ) และมีการ CTscan ตอนเวลา 07:38 น. ซึ่งทุกการรักษามีการระบุว่า มีการทำ CPR ตลอดเวลา จึงตั้งข้อสังเกตว่าจะทำการกู้ชีพได้อย่างไร และทำไปทำไม รวมถึงเวลาในการส่งตรวจจนถึงกลับมาถึงหอผู้ป่วย ในเอกสารไม่ตรงกัน ก่อนที่ ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
จะเข้ามาประเมินอาการบุ้ง ตอนเวลา 08:00 น. และสั่งให้ประสานงานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เพื่อส่งรักษาต่อ โดยไม่มีสัญญาณชีพ
นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ในเอกสารจำนวน 26 แผ่น กลับไม่มีผลการตรวจเอกซเรย์ปอด และผลการทำ CTscan มาร่วมด้วย นอกจากนี้ นายกฤษฎางค์ ยังถามไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า มีการวินิจฉัยโรคจากการอดอาหารเป็รเวลานาน (Refeeding Syndrome) ตั้งแต่เมื่อไหร่ มีการรักษา มีการแก้ไขอย่างไรจนถึงวันก่อนเสียชีวิต เนื่องจากบุ้ง เป็นภาวะที่มีความรุนแรง และควรต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเอกสารที่ได้มามีเพียงการชี้แจงในวันเกิดเหตุเท่านั้น แต่ผลการรักษาก่อนหน้านี้ทั้งหมดไม่ได้ให้มา
ดังนั้น ญาติของผู้เสียหายมีความต้องการให้กรมราชทัณฑ์ส่งเอกสารเพิ่มเติม คือ ผลการเอกซเรย์ปอด และผล CTscan รวมถึงผลการบังทึกการรับประทานอาหาร ผลเลือด และเวชระเบียนทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. ที่รับตัวกลับไปจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ
นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า วันศุกร์นี้ตนจะเข้าไปเอากล้องวงจรปิด ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการชี้ว่ามีการรักษาบุ้งอย่างไรในวันเกิดเหตุ และตรงกับเอกสารที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้มาหรือไม่ พร้อมยอมรับว่า รู้สึกไม่พอใจที่เมื่อวานนี้ (20 พ.ค. 67) มีการนำสื่อมวลชนเข้าไปดูห้องพัก และห้อง ICU ภายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่กลับไม่มีการแจ้งมาทางทีมทนาย และครอบครัวของบุ้งให้ทราบ
ส่วนเมื่อถามว่าหากความจริงปรากฏต้องการจะเอาผิดใครหรือไม่ นายกฤษฎางค์ ยืนยันว่า เราไม่มีเจตนาที่จะแก้แค้นหรือต้องการที่จะโกรธเคืองใคร และไม่ต้องการที่จะเอาผิดใคร แต่ต้องการความจริง และความชัดเจน ซึ่งหากมีคนผิดตนก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งความ เพราะเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินอยู่แล้ว
ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ ยังกล่าวถึง อาการของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมมาเมื่อวานนี้ว่า มีอาการสุ่มเสี่ยงคล้ายอาการเดียวกับบุ้ง เนื่องจากมีการอดอาหารมาเป็นเวลานานเช่นกัน ตนจึงกำชับทางครอบครัว และผู้คุมที่อยู่ในห้องให้เฝ้าระวัง รวมถึงบอกแพทย์ให้ดูแลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพื่อป้องกันกรณีแบบบุ้ง รวมทั้งได้บอกกับตะวันว่า อย่าเซ็นเอกสารใดๆ กับทางกรมราชทัณฑ์ เพราะถือว่าตะวันเป็นพยานปากเอกที่อยู่ในที่เกิดเหตุในวันที่บุ้งเสียชีวิต