POLITICS

นักวิชาการ ชี้ เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมช่วยแหวกกลุ่มอำนาจเก่า หวังเป็นจุดเริ่มต้นให้มีบทบาทมากขึ้น

วันนี้ (20 พ.ย.66) รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมว่า หากมองจำนวนผู้ประกันตนมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 945,609 คน จากผู้ประกันตนที่มีสิทธิทั้งหมดกว่า 14 ล้านคน เป็นสัดส่วนที่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าน้อย แต่การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ที่ผ่านมาผู้ประกันตนส่วนมากไม่รู้จักบทบาทของบอร์ดประกันสังคมว่ามีหน้าที่อะไร

“ก็ไม่เป็นไร ครั้งนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น คิดว่าตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้ประกันตนก็น่าจะทำให้ บอร์ดชุดนี้มีบทบาทมากขึ้น เลือกตั้งครั้งต่อไปก็น่าจะดีขึ้นในแง่ของคนที่สนใจจะเข้ามาเลือก” อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ กล่าว

รศ.ดร.นภาพร ยังกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งน่าจะทำให้กลุ่มอำนาจเดิมที่เคยอยู่ในบอร์ดประกันสังคมกลับเข้ามามีบทบาทได้ยากขึ้น เพราะเมื่อก่อนเลือกบอร์ดโดยสหภาพแรงงานเลยทำให้มีบางกลุ่มสามารถได้คะแนนจากการจัดตั้งของสหภาพแรงงานได้ แต่คราวนี้คงไม่ได้แล้วเพราะผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 9 แสนกว่าคน คงไม่สามารถคุมเสียงจัดตั้งได้อย่างเมื่อก่อน ก็อาจจะมีบ้างคนเก่าแต่ก็คิดว่าอาจจะน้อยแล้ว

ส่วนผู้ที่จะเข้ามาทำงานเป็น 7 คณะกรรมการประกันสังคมนั้น รศ.ดร.นภาพร กล่าวว่า มีการพูดกันมานานอยากจะให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม แม้จะมีการบริหารโดยไตรภาคี 3 ฝ่าย แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทบริหารเป็นหลัก ที่หลายๆ คนเรียกร้องก็คือว่าอยากให้การบริหารงานเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐแต่เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกันตนทั้งลูกจ้างและนายจ้าง เมื่อรัฐบริหารเป็นหลัก บางครั้งอาจจะกลัวว่านำเงินก้อนใหญ่ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ กรรมการก็ต้องตรวจสอบดูแลการใช้เงินกองทุนให้เป็นไปเพื่อสวัสดิการของลูกจ้างอย่างแท้จริง

Related Posts

Send this to a friend